
ภาคการเกษตรของไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท เกษตรกรถือเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และต้องการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ตลาดสำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยอันดับ 1 ยังคงเป็นประเทศจีน เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเป็นจะต้องดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่กำลังมีบทบาทต่อการค้าโลก เพื่อเตรียมการรับมือ
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงทิศทางการดำเนินงาน แนวทางการรับมือภายใต้ปัจจัยต่าง ๆ
ให้ความสำคัญ 2 เรื่องหลัก
นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การบริหาร เราได้ให้ความสำคัญและดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 2 เรื่องสำคัญ ตั้งแต่ในช่วงที่ นายธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ เกษตรมูลค่าสูงและเกษตรยั่งยืน ซึ่งในปีนี้เราเดินหน้าในการเพิ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง
โดยให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญ หากมีพื้นที่เหมาะสมก็สามารถหันมาเพาะปลูกได้ เช่น กาแฟ ถั่วเหลือง โกโก้ โดยเราพร้อมสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงช่องทางการจำหน่าย ซึ่งเราพร้อมประสานกับหน่วยงานอย่างกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานทูตเกษตรที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อผลักดันการส่งออกต่อไป
เพราะเมื่อดูรายได้เกษตรกรในปัจจุบันแล้วจะพบว่า เกษตรกรมีรายได้อยู่ 2 ช่องทาง คือ รายได้จากภาคการเกษตรอยู่ที่ 2.2 แสนบาทต่อปี และรายได้นอกภาคการเกษตรกว่า 2 แสนบาทต่อปี แต่รายได้จากภาคการเกษตร มีเรื่องของต้นทุน ดังนั้น รายได้สุทธิจะอยู่ที่ 89,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้เราเล็งเห็นว่าจำเป็นจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรเพื่อให้ “กินดีอยู่ดี”
จัดโครงการช่วยเกษตรกร
สำหรับภารกิจสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการดูแลพี่น้อง เกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเราให้ความเป็นห่วงและความสำคัญมาก ในช่วงที่ผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดเป็นปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ผลไม้ เป็นต้น สำหรับผลผลิตยางพารา ซึ่งเบื้องต้นได้มอบนโยบายให้กับการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ทำโครงการสินเชื่อชะลอการขาย เพื่อจะดูดซับซัพพลายที่จะออกสู่ตลาด เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคายางพาราตกต่ำ
ส่วนสินค้าข้าว กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ทำโครงการสินเชื่อชะลอการขาย สินเชื่อในการรวบรวมสินค้าข้าว ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนเป็นการดูแลซัพพลายไม่ให้ออกสู่ตลาดจนเกินไป
ดูแลปัญหาทุเรียนปนเปื้อน
ขณะที่การดูแลผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้รับรายงานถึงปัญหาในการพบสารปนเปื้อน จึงให้กรมวิชาการเกษตรออกประกาศให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนด และเวลาต่อมาประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือฟรุตบอร์ดทันที โดยสั่งการเร่งด่วนตรวจสอบสาร Basic Yellow 2 (BY2) แคดเมียม และหนอนในสินค้า พร้อมเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการตรวจสอบ (แล็บ) ที่จะสามารถตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าจะไม่มีสารปนเปื้อนในทุเรียน
“ตอนนั้นมีแล็บที่มีความพร้อม 4-5 รายที่ให้การตรวจสอบได้ แต่ปัจจุบันจำนวนห้องแล็บเริ่มมีจำนวนมากขึ้น พร้อมที่จะให้ตรวจสอบสินค้าได้แล้ว เพราะได้มอบนโยบายให้กับกรมวิชาการเกษตร ในการเร่งตรวจสอบให้มีความเร็วขึ้น และเพิ่มจำนวนแล็บในการรองรับการตรวจสอบ เพราะทุเรียนถือว่าเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท และเชื่อว่าจะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
และเพื่อเป็นการดูแลพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ทางนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะลงพื้นที่ไปรับฟังและร่วมหาแนวทางในการช่วยเหลือชาวสวนต่อไป
สำหรับสินค้าเกษตรไทยภาพรวมส่งออกในปี 2567 ที่ผ่านมามีมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกผลสด มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนสินค้าเกษตรแปรรูป มีมูลค่า 8 แสนล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 7.5% และในช่วง 3 ปีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังคงอันดับ 1 ของตลาดการส่งออก รองลงมา คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และเชื่อว่าในปี 2568 นี้โอกาสที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรจะเพิ่มขึ้น 1.9-2 ล้านล้านบาท ก็คาดหวังว่าเราน่าจะทำได้
เยือนจีนเร่งแก้ปัญหาทุเรียน
ในช่วงที่ผ่านมาได้มีโอกาสเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับคณะนายกฯ มีโอกาสพบกับ ดร.ซุน เหมยจุน รัฐมนตรีว่าการสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) พร้อมคณะผู้บริหารของจีน และใช้โอกาสครั้งนี้ ในการพูดคุยถึงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาของไทย ว่ามีการดำเนินการอะไรไปบ้าง
เบื้องต้นจีนมีความพึงพอใจในการแก้ปัญหาของเรา เพราะจีนมีการนำเข้าสินค้าผลไม้จากประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ทุเรียนเป็นสินค้าที่นำเข้ามากที่สุด จึงจำเป็นจะต้องดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค
เมื่อดูมูลค่าการส่งออกทุเรียนไปในประเทศจีนแต่ละปี เราส่งออกเฉลี่ยปีละ 1.3-1.4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปี 2568 นี้ไทยจะส่งออกทุเรียนไปจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งทุเรียนไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดในจีนถึง 57% และผู้บริโภคจีนยังให้การยอมรับทุเรียนไทยมาก
ดันโคเนื้อ-โคมีชีวิตไปจีน
นอกจากนี้ มีความพยายามที่จะเปิดตลาดโคเนื้อและโคมีชีวิตไปยังตลาดจีนตั้งแต่ปี 2562 ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์ เราส่งรายงานให้กับ GACC หน่วยงานของจีนซึ่งได้มีการสอบถามมายังประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ได้มีการรายงานให้ทราบถึงความคืบหน้า ว่าประเทศไทยได้มีการเตรียมพื้นที่ค่ายกักกันโรค สำหรับโคมีชีวิตเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโคมีชีวิตจะไม่ติดโรคก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน
พื้นที่กักกันเราได้ใช้พื้นที่จังหวัดเชียงราย และเมื่อระยะเวลาในการกักกันครบ มีการตรวจโรค เรานำโคมีชีวิตขนส่งผ่านเส้นทางเดินเรือ ล่องแม่น้ำโขงและขึ้นที่ท่าเรือคลองจีน และอีกช่องทาง คือ ผ่านการขนส่งทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ-หนองคาย-สปป.ลาว-จีน ซึ่งทางหน่วยงานจีนได้รับทราบและอยู่ระหว่างการประเมินความเสี่ยง และรอความเห็นจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯของจีน
ตอนนี้อยู่ระหว่างรอรับการประเมินผลของจีนว่าจะตอบรับหรือให้ความคิดเห็นอย่างไร เพื่อให้เราสามารถมีโอกาสส่งโคเนื้อและโคมีชีวิตไปยังตลาดจีนได้ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันตลาดจีนมีความต้องการสินค้าดังกล่าวสูงมาก แต่ประเทศไทยยังติดปัญหาประเทศที่อยู่ในลิสต์ของการติดโรคระบาดของมือเท้าปากเปื่อยในสัตว์ ซึ่งการที่จะนำประเทศไทยออกจากลิสต์ เป็นเรื่องที่ยาก แต่เราก็อยู่ระหว่างการผลักดันและแก้ไข
ล่าสุดมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) เห็นชอบให้เร่งหางบประมาณเพื่อนำวัคซีนฉีดเข้าให้กับสัตว์เพื่อป้องกันโรคได้ 100% ซึ่งที่ผ่านมาวัคซีนป้องกันโรคได้เพียง 50-60% ซึ่งต้องยอมรับว่างบประมาณที่ได้แต่ละปียังไม่เพียงพอ ดังนั้น อยู่ระหว่างการผลักดันต่อไป
ตั้งรับนโยบายทรัมป์ 2.0
สำหรับการตั้งรับทรัมป์ 2.0 ต้องบอกตามตรงว่า ในเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ได้มีโอกาสได้พบกับผู้แทนของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าตอนนี้ทางสหรัฐจะประกาศดำเนินการด้านภาษี แต่สำหรับประเทศไทยยังถือว่ายังไม่ใช่เป้าหมายแรก ซึ่งในมุมมองเห็นว่าสหรัฐมองไทยเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่สามารถมีเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหาร
รวมทั้งความสัมพันธ์ในระดับเอกชน ทุกปีก็จะมีบริษัทในกลุ่มเกษตรที่มีการเข้ามาหารือ เช่น ปศุสัตว์ พืช เพราะมีการลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น ถ้าหากมีการดำเนินมาตรการ สหรัฐอาจจะต้องมีการคำนึงถึงผู้ประกอบการสหรัฐเองที่มีการเข้ามาลงทุนในไทยด้วย
อันที่จริงประเทศไทยโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินงานดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะการสร้างบาลานซ์ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเราไม่ได้อิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
ส่วนความกังวลทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ เรื่องนี้มองว่ามีทั้งผลด้านบวกและลบ เพราะหากสหรัฐขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศไทย เราจะมองช่องทางในการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นเพื่อทดแทน ส่วนด้านบวกที่จะมีผลต่อไทย คือ ประเทศที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษี พอประเทศเหล่านั้นส่งเข้าไม่ได้ สหรัฐมีโอกาสที่จะมองตลาดอื่น อย่างไทยเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าซึ่งจะเป็นโอกาสของไทย
ไม่มีนำเข้าเนื้อสัตว์จากสหรัฐ
ส่วนในเรื่องของการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเข้ามาในประเทศไทย ต้องยอมรับเรื่องนี้มีการพูดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในประเด็นนี้ก็ได้มีการเรียนให้กับท่านนายกฯ ถึงความสำคัญ หากจะนำเข้าเนื้อสัตว์จากสหรัฐ เบื้องต้นนั้น ไม่เห็นด้วยเพราะประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัย อีกทั้งยังมีมาตรฐานของสินค้าในประเทศ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำให้สินค้าได้รับมาตรฐาน
“ในฐานะที่ดูแลเกษตรกร การที่จะนำเอาภาคการเกษตรไปดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ดุลการค้าเยอะ เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมองว่าจะเอาเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยไปแลก ซึ่งไม่อยากให้ทำ เพราะเกษตรกรจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น “ตอนนี้เราก็อยู่ระหว่างการเก็งข้อสอบ ในช่วงของการหารือและพิจารณาหาทางออกเรื่องนี้ร่วมกัน”