กกพ.สวน “พีระพันธุ์” ไอเดียลดค่าไฟ แค่ปรับสัญญารับซื้อ-ไม่หวั่นโดนฟ้อง

กกพ.ยันแนวทางทบทวนสัญญารับซื้อไฟ Adder, FiT ช่วยลดค่าไฟเหลือ 3.98 บาท สวน “พีระพันธุ์” แค่ทบทวน ไม่ใช่ยกเลิกสัญญา ลั่นพร้อมโดนฟ้อง เพื่อประโยชน์ประชาชน ตีกลับไอเดีย Pool Gas ไม่รู้ทำยังไงถึงลดได้ 40 สต. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที 3 ทางเลือก ก่อนสรุปค่าไฟงวดใหม่ภายในมีนาคมนี้

การหาแนวทางปรับลดค่าไฟเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับภาคประชาชนกลายเป็นกระแสนิยมขึ้นอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งจะทำให้ค่าไฟลดลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยจากค่าไฟงวดปัจจุบัน (ม.ค.-ส.ค.) ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย

แต่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ว่าข้อเสนอของ กกพ. โดยวิธีเลิกสัญญา Adder-FiT เสี่ยงโดนฟ้อง และได้เสนอทางออกในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านการปรับพอร์ต Pool Gas ที่คาดว่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้เกือบ 40 สตางค์

ยันเลิก Adder ทำได้

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การปรับทบทวนสัญญา Adder ใหม่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยหยิบยกเสนอให้ภาคนโยบายพิจารณาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในส่วนของสัญญา เป็นหน้าที่ของฝ่ายนโยบาย หากเห็นว่าจำเป็นต้องพิจารณาหารือกัน กกพ.เองก็ยินดีที่จะสนับสนุนเพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดการเหลื่อมล้ำ ทำให้เป็นสัญญาที่เป็นธรรมขึ้น

“ส่วนเรื่องที่ทำยาก ทำง่าย หรือทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ท่านอาจจะเห็นในส่วนนี้ แต่ผมเชื่อว่า ฝ่ายนโยบายคงหวังดีที่จะนำมาหยิบยกพูดคุยกัน การลดค่าไฟ 17 สตางค์ เรามองว่ามันทำได้และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น ผู้ที่เคยได้ทำสัญญาอาจจะถึงเวลาที่ต้องพูดคุยกันใหม่ ส่วนการปรับลดค่าไฟลง 40 สตางค์ต่อหน่วย เป็นนโยบายของ รมว.พลังงาน ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าท่านไปเอาแนวทางหรือวิธีการอย่างไร เราก็ต้องติดตามต่อไป”

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์

ดร.พูลพัฒน์กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มค่าไฟงวดต่อไป (พ.ค.-ส.ค. 68) หลัก ๆ มาจาก 2 ส่วน คือ ค่าเชื้อเพลิง ซึ่งเรานำเข้า LNG มาจากต่างประเทศ โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าลดลง 11-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ขณะนี้ราคาปรับขึ้นมาที่ 17 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ผลจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อีกทั้งค่าเงินบาทปลายปีที่อ่อนค่าลง มีผลต่อมูลค่านำเข้าเชื้อเพลิง ซึ่งไทยในฐานะผู้นำเข้า LNG ก็ต้องเตรียมรับผลกระทบเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันยังมีหนี้คงค้างกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกราว 80,000 ล้านบาท และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีก 15,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ กกพ.จะมีการสรุปผลตัวเลขงวดหน้าเดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 ในช่วงเดือนมีนาคม และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) โดยจะเปิดทางเลือกตัวเลขค่าไฟ 3 กรณี ในวันที่ 7 มีนาคมนี้ ก่อนประกาศอัตราค่าไฟที่ชัดเจนอีกครั้ง

ลั่นพร้อมสู้เพื่อประโยชน์ ปชช.

ด้านนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กกพ.เคยมีมติเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เสนอความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามมาตรา 11(12) โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expenses : PE) ที่ประกอบด้วย Adder และ FiT มีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder ที่ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เราเสนอให้เอา PE ออก จะลดค่าไฟได้ 17 สตางค์

ADVERTISMENT

ซึ่งล่าสุด รมว.พีระพันธุ์ชี้แจงว่า เป็นเรื่องของสัญญาที่ไม่สามารถยกเลิกได้ แต่ในความเป็นจริงสามารถทำได้ คือในส่วนของราคาตามที่ กกพ. เสนอ กพช. ให้คำนวณราคาต้นทุนใหม่ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้น สิ่งที่ กกพ.เสนอไม่ใช่การยกเลิกสัญญา แนวทางนี้เป็นไปได้และลดได้จริง 17 สตางค์ จะช่วยประชาชนประหยัดได้ราว 33,150 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม กกพ.เคยทำหนังสือไปถึง รมว.พีระพันธุ์ แล้วในช่วงเดือนธันวาคม 2567 เพื่อขอให้พิจารณาถึงแนวทางการทบทวนสัญญา Adder ซึ่ง รมว.เองก็ได้นำเข้าที่ประชุม กพช. แต่เรื่องก็เงียบไป

“การปรับสัญญา Adder ถ้าทำแล้วโดนฟ้อง แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชน ผมก็พร้อมสู้” นายวรวิทย์กล่าว

วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา
วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา

ต้นทุนรับซื้ออดีตสูงกว่าเกือบบาท

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคา รับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อ ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัว หรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท

หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ 1.ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 2.การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน

หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปี และเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท จึงแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญ สัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่าไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด