เบื้องหลังปตท.ดีลซื้อโรงไฟฟ้า GPSC เพิ่มกำลังผลิต-โกลว์ลดเสี่ยงก๊าซ

เผยเบื้องหลังดีลซื้อขายโรงไฟฟ้าระหว่าง ปตท.กับโกลว์ พลังงาน ยังดำเนินต่อไป ด้าน GPSC ต้องการกำลังผลิตใหม่เข้ามาในระบบ ขณะที่ GLOW ก็จะลดความเสี่ยงในเรื่องของการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่ต้องพึ่งพิง ปตท. จนต้องแสวงหาจุดร่วมเพราะ อนาคตไทยจะไม่มีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ IPP อีกต่อไปแล้ว เหตุไฟฟ้าในประเทศล้นเกินขนาดหนัก

ตามที่มีข่าวเผยแพร่ดีลการซื้อขายกิจการด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เครือ ปตท.กับ บริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GNGIE GLOW โดยฝ่ายแรกเสนอที่จะซื้อหุ้น GLOW ร้อยละ 69 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทนั้น ล่าสุดทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ตอบ “ปฏิเสธ” ถึงการมีอยู่จริงของดีลซื้อขายครั้งนี้ โดย GLOW ระบุในหนังสือชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มเอ็นจีอยู่ระหว่างการประเมินกลยุทธ์ทางธุรกิจการตลาดของไทย และยังไม่มีข้อสรุป” ขณะที่ GPSC ได้ชี้แจงไปในทำนองเดียวกัน “ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ หากมีความคืบหน้าที่ชัดเจน…จะแจ้งข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบโดยทันที”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า หากเปรียบเทียบกำลังผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของทั้ง 2 บริษัทจะพบว่า GPSC มีกำลังผลิตรวม 1,922 เมกะวัตต์ (MW) ไอน้ำ 1,582 ตัน/ชม. ส่วน GLOW มีกำลังผลิตรวมถึง 3,207 MW ไอน้ำ 1,206 ตัน/ชม.

โดยโรงไฟฟ้าหลักของ GPSC ได้แก่ IRPC กรีนพาวเวอร์ 1 ประเภทโคเจน กำลังผลิต 240 MW, โรงผลิตสาธารณูปโภค 1-3 กำลังผลิตประมาณ 339 MW, โรงไฟฟ้าศรีราชา IPP กำลังผลิต700 MW, โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ IPP 1,400 MW, โรงไฟฟ้านวนคร SPP 125 MW และโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น 1-2 กำลังผลิต 234 MW นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอิชิโนเซกิ พาวเวอร์ 20.8 MW, โรงไฟฟ้า บ.ไซยะบุรี เพาเวอร์ (1,285 MW) กับโรงไฟฟ้าน้ำลิก 1

ขณะที่ GLOW มีโรงไฟฟ้าหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าโกลว์ IPP, โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน (ถ่านหิน), โรงไฟฟ้าห้วยเหาะใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้า SPP ประเภทพลังงานความร้อนร่วมและไอน้ำ (Cogeneration Facilities) อีกเป็นจำนวนมาก เมื่อดูตัวเลข Q1 GPSC มีกำไรแค่ 992 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าหลักส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุน บริษัทไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ GLOW ไตรมาส 1/2561 มีกำไร 3,381.5 ล้านบาท (ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 9,076 ล้านบาท)

แหล่งข่าวในวงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ให้ความเห็นถึงดีลนี้ว่า GPSC มีความต้องการกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาในบริษัท การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP-SPP ต้องใช้เวลาหลายปี กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่จะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศล้นเกินไปถึงปี 2569 (สำรองไฟฟ้าสูงกว่าระดับ 30%) ดังนั้นทางเดียวที่ GPSC จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าก็คือ การซื้อโรงไฟฟ้าภายในประเทศที่มีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.โดยโรงไฟฟ้าของ GLOW นับเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดเมื่อเทียบกับการไปลงทุนทำโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ

“ด้าน GLOW เองสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าอยู่ในสถานะค่อนข้างคงที่ โรงไฟฟ้า IPP ไม่มีการเปิดประมูลอีก ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)-โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศก็เป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายจะอุดหนุนโรงไฟฟ้าเหล่านี้เหมือนในอดีต ที่สำคัญก็คือ โรงไฟฟ้าหลักของ GLOW อย่างโรงไฟฟ้าโกลว์ IPP นั้นใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งแน่นอนต้องซื้อจาก ปตท. ในขณะที่ ปตท.ก็ถือหุ้นใหญ่ใน GPSC โดยมีการคำนวณอย่างไม่เป็นทางการว่า ต้นทุนก๊าซธรรมชาติคิดเป็นร้อยละ 54.2 ของต้นทุนขายรวมทั้งหมดของบริษัท” แหล่งข่าวกล่าว

ประกอบกับต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าของ GLOW (ยกเว้นโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจาก GLOW ต้องทำสัญญาซื้อขายก๊าซกับ ปตท.แบบสัญญามาตรฐานแบบมีเงื่อนไข ข้อสัญญาไม่สามารถปรับให้สอดคล้องกับสถาวะการดำเนินงานของ GLOW ได้ “นั่นหมายถึง GLOW กับ GPSC ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าเหมือนกัน แข่งขันกัน แต่ GPSC มีแต้มต่อมากกว่าเพราะเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ส่งผลให้ดีลนี้เกิดขึ้นเพื่อ GLOW จะได้ลดความเสี่ยงในเรื่องก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าลง” แหล่งข่าวกล่าว


ขณะที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. และว่าที่ CEO คนใหม่ของ ปตท. กล่าวเพียงว่า “รายละเอียดเป็นไปตามที่ GPSC ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้ ผมไม่ได้ดูแลธุรกิจด้านนี้และจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้”