ห่วงโรงกลั่น-ปิโตรปีนี้คาดเดายาก พิษสต๊อกน้ำมัน-อุปทานล้นทำปี’67ขาดทุน

oil refinery

อุตฯโรงกลั่น-ปิโตรเคมี เจอมรสุมหนัก ปี’67 ขาดทุนอ่วม ทั้งไทยออยล์-บางจาก-ไออาร์พีซี-จีซี ผลพวงราคาน้ำมันโลกผันผวน ทรัมป์เอฟเฟ็กต์ นักวิชาการเผยแนวโน้มปีนี้ก็ยังไม่สดใส คาดการณ์ลำบาก ปัจจัยไม่แน่นอนสูง ต้องมอนิเตอร์ทรัมป์รายวัน แนะกดสต๊อกน้ำมัน เพิ่มมาร์จิ้น มีสิทธิกำไรเข้าสู่ภาวะปกติ

ธุรกิจกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ แต่ช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหากดดันทั้งจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกผันผวน รวมถึงนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ในปี 2567 ธุรกิจโรงกลั่น-ปิโตรเคมีเผชิญบททดสอบใหญ่

ไทยออยล์กำไรหาย 49%

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานผลประกอบการปี 2567 มีรายได้จากการขายที่ 455,857 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,959 ล้านบาท ลดลง 9,484 ล้านบาท หรือ 49% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีกําไรสุทธิ 19,443 ล้านบาท

สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่นปรับลดเนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นใหม่เริ่มดำเนินการ ขณะที่ด้านราคาน้ำมันดิบในปี 2567 เทียบกับปี 2566 ปรับลดลง จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์รับรู้ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,913 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) ที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisor) ได้ตรวจสอบและวิเคราะห์การก่อสร้างที่เหลืออยู่ของโครงการ เห็นว่าการที่จะก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติม

ซึ่งล่าสุดที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 พิจารณาอนุมัติการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP อีก 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่าเงินลงทุน ทั้งหมดของโครงการ CFP จํานวน 241,472 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 37,216 ล้านบาท

ADVERTISMENT

โรงกลั่นบางจากขาดทุน 1.6 พัน ล.

บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC รายงานผลการดำเนินงานปี 2567 โดยขาดทุนสุทธิ 1,688.64 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 780.48 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลง และค่าใช้จ่ายในการขายและบริการที่เพิ่มขึ้นจากการตัดจำหน่ายทรัพย์สินในการปรับปรุงภาพลักษณ์สถานีบริการและเปลี่ยนระบบบันทึกการขาย (POS) ระบบเดียวกับกลุ่มบริษัทบางจาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายระยะยาว หักลบบางส่วนด้วยการรับรู้ผลกำไรจากตราสารอนุพันธ์ ซึ่งบริษัทเริ่มมีการดำเนินการป้องกันความเสี่ยงในปี 2567

ในส่วนของต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น 327 ล้านบาท จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และการปรับโครงสร้างเงินกู้ของบริษัทเป็นการกู้ยืมระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจของบริษัทที่เป็นการลงทุนระยะยาว ทั้งนี้ BSRC มีผลงานเด่นในช่วงไตรมาส 4/67 โดยดำเนินการเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันจาก ESSO เป็นแบรนด์บางจากเสร็จสิ้น และสามารถลดเงินลงทุนในการปรับเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันได้มากกว่า 60 ล้านบาท เมื่อเทียบกับแผน

ADVERTISMENT

IRPC-GC อ่วมพิษปิโตรฯ

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC รายงานผลการดำเนินงานปี 2567 มีผลขาดทุนสุทธิ 5,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2,923 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ ปี 2567 อยู่ที่ 281,711 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุจากปริมาณขายลดลง 4% และราคาขายเฉลี่ยลดลง 2% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง

ส่วนบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC รายงานผลดำเนินงานปี 2567 ขาดทุน 29,810.55 ล้านบาท เทียบกับปี 2566 ที่มีกำไร 999.13 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นที่ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบโลกที่ปรับลง ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ Portfolio ของธุรกิจให้เข้มแข็ง โดยตัดสินใจยุติดำเนินกิจการ “พีทีที อาซาฮี เคมิคอล” หรือ PTTAC บริษัทร่วมค้าถือหุ้น 50% เริ่มดำเนินการหยุดการขายและการส่งมอบผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 คาดกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในปี 2571

ชี้ปีนี้ธุรกิจโรงกลั่นยังไม่สดใส

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ซึ่งเป็นธรรมดาที่ทำให้ผลประกอบการกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันขาดทุนได้ เพราะสต๊อกน้ำมันที่มีอยู่มีมูลค่าลดลง จากการวิเคราะห์ค่าการกลั่นพบว่ากลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งเราเคยเจอค่าการกลั่นที่สูงมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤตการณ์สงคราม การคว่ำบาตรทางการค้า การขาดแคลนน้ำมัน ประกอบกับมีโรงกลั่นปิดตัว ส่งผลให้ค่าการกลั่นสูง

แต่ช่วงที่ผ่านมาสงครามค่อนข้างสงบลงในระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงทำให้ราคาน้ำมันไม่แพงเท่าไหร่ และอาจจะมีแนวโน้มปรับลดลง ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ Margin ของโรงกลั่นปรับตัวค่อนข้างมาก ถ้าโรงกลั่นสามารถรักษาสต๊อกไม่ให้สูงจนเกินไป คาดการณ์ราคาน้ำมันให้ดี กำไรอาจจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ส่วนนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล ย่อมเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำมันทั่วโลก ทั้งขุดเจาะ สำรวจ โรงกลั่น แต่ก็จะกระทบกับด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“แนวโน้มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปีนี้อาจจะยังไม่สดใสเท่าไหร่ เพราะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนต่าง ๆ เนื่องจากยังขึ้นอยู่กับปัจจัยนโยบายของสหรัฐอเมริกา โอกาสที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะสงบลง หรือฝั่งตะวันออกกลางจะปะทุด้วยสงครามใหญ่หรือไม่ เพราะฉะนั้นกำไรของโรงกลั่นและผู้ผลิตน้ำมันยังคาดการณ์ยาก” นายพรายพลกล่าว