
ช้าไปอีก 3 เดือน เลขาฯ อีอีซี กางร่างสัญญาร่วมทุนฉบับใหม่ ลุยเจรจาสถาบันการเงินปล่อยกู้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การันตีเอกชนผู้รับสัมปทานเดินหน้าคู่ขนานเมืองการบิน คาด ครม.เห็นชอบ มิ.ย.นี้ “อู่ตะเภา” ลุ้นคำตอบกระทรวงการคลังไฟเขียว “เมืองปลอดภาษี”
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การแก้ไขร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กับเอกชนมีความก้าวหน้าเกือบจะ 100% แล้ว
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568 ทาง กพอ.ได้ไปประชุมกับธนาคารเพื่อสร้างความมั่นใจให้ธนาคาร โดยการปรับสัญญาสัมปทาน เพื่อจะทำให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ร่างสัญญาฉบับใหม่มีการปรับบางอย่างที่ต้องหย่อนลงจากสัญญาเดิม เพื่อให้โครงการดำเนินการไปได้เร็วขึ้น
สำหรับขั้นตอนทางกฎหมายภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2568 จะนำร่างสัญญาที่แก้ไขเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด รฟท.พิจารณา เดือนเมษายน 2568 จะส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญา และเดือนพฤษภาคม 2568 จะส่งกลับมาเข้าบอร์ด กพอ.
จากนั้นนำร่างสัญญาฉบับใหม่เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป ตามขั้นตอนจะมีการลงนามในสัญญา ทางอีอีซีจะแจ้งให้เริ่มโครงการ คาดว่าประมาณเดือนมิถุนายน 2568 จะมีความชัดเจน จากเดิมจะต้องจบในเดือนเมษายน 2568
“แต่หากมีปัญหาเอกชนไม่สามารถดำเนินการตามกรอบที่วางไว้ กรณีเอกชนไม่ทำต่อ ผมเตรียมแผนก๊อก 2 ไว้ กรณีเลวร้ายสุด (Worst Case) รัฐเตรียมลงทุนก่อสร้างเอง อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้อย่างไรก็ต้องเกิด มีการกำหนดความเร็วของรถไฟความเร็วสูงไว้ที่ 160 กม./ชม. จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องไปเร็วกว่านี้
เพราะระยะทาง 200 กม. และแต่ละสถานีสั้น ๆ หากอัดความเร็วเข้าไปพอใกล้ ๆ ถึงสถานีต้องลดความเร็ว สถานีไกลสุดระยะทาง 50-60 กม.เท่านั้น จึงไม่ต้องเพิ่มความเร็วให้สูงมาก เพราะค่าการบำรุงดูแลรักษาแพง ที่ผ่านมามีความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ ตอนนี้เรียบร้อยหมดแล้ว ถ้าเอกชนพร้อมทุกอย่างเดินไปได้” ดร.จุฬากล่าว
ดร.จุฬากล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภาได้หารือกันล่าสุดสัปดาห์ที่แล้ว โดยทางบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างได้ทำหนังสือมายัง กพอ. แจ้งว่าจะเริ่มดำเนินโครงการโดยไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูง ทาง UTA ได้สอบถามถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับ
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเมืองปลอดภาษี ว่าจะให้สิทธิประโยชน์ในส่วนนี้อย่างไร เพราะ UTA อาจต้องเตรียมไปชักชวนผู้ประกอบการรายอื่นมาลงทุน ซึ่ง กพอ.มีอำนาจทำได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งต้องให้กระทรวงการคลังออกกฎหมายเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ใกล้เคียงกันกับโครงการรถไฟความเร็วสูง