
กระทรวงพาณิชย์ เผยนายก “อิ๊ง” ให้ความสำคัญในการดูแลชาวสวนผลไม้ เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการช่วยเหลือ เร่งระบายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยกระดับราคาสร้างรายได้ให้เกษตรกร ล่าสุด เอกชน 27 ราย เข้ารับซื้อผลไม้แล้วรวม 103,760 ตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งระบายผลไม้ภายในประเทศและผลักดันการส่งออกอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้ง หามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในช่วงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากในตอนนี้ด้วย
“รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยเฉพาะมะม่วง มังคุด เงาะ และทุเรียน จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมมือกับภาคเอกชน เร่งดำเนินแผนรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในแหล่งผลิต พร้อมขยายการจำหน่ายในประเทศผ่าน 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การรับซื้อเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค รับซื้อเพื่อกิจกรรม CSR รับซื้อเพื่อบริโภคในองค์กร รับซื้อโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมราชทัณฑ์ เพื่อนำไปประกอบอาหาร เป็นต้น”
โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน 9 กลุ่ม 27 ราย ในการรับซื้อผลไม้รวม 103,760 ตัน โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมผู้ค้า-ส่งออกผลไม้ไทย และเอกชนรายใหญ่ เช่น บ.สหพัฒนพิบูล จำกัด, บ.ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด เข้ารับซื้อผลไม้รวมปริมาณกว่า 55,500 ตัน ด้านห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ รับซื้อผลไม้กว่า 34,450 ตัน สถานีบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) ตู้เต่าบิน ไปรษณีย์ไทย หน่วยงานรัฐและมูลนิธิต่าง ๆ อีกรวม 13,810 ตัน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ในประเทศ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นการยกระดับราคาผลไม้และรายได้ให้กับชาวสวน
“รณรงค์บริโภคผลไม้ เช่น ผ่านสื่อโซเชียล โดย KOL ที่มีชื่อเสียง เพื่อขยายฐานผู้บริโภค รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริม เช่น การประกวดเมนูอาหารจากผลไม้สดและนวัตกรรม งาน Thai Fruits Festival ซึ่งคาดว่าจะช่วยระบายผลไม้ในประเทศได้กว่า 346,500 ตัน จากเป้าหมายรวม 730,000 ตัน”
ขณะที่ สำหรับมาตรการการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ ปี 2568 ได้ตั้งเป้าการส่งออก ไว้ที่ปริมาณ 4.13 ล้านตัน ขยายตัว 3% คิดเป็นมูลค่า 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 2% โดยการส่งออกผลไม้ไปตลาดจีน และเพื่อให้การส่งออกมีความเชื่อมั่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งผลักดันการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP และตั้งศูนย์ “Set Zero” เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลไม้ไทย รวมถึงจัดตั้ง War Room เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกอย่างเร่งด่วน พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศจีน
ซึ่งล่าสุดสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ได้ประกาศลดระดับการสุ่มตรวจสาร BY2 สำหรับทุเรียนไทยที่มีระบบจัดการดี มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมาถือเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“กลยุทธ์ในการผลักดันส่งออก วางกลยุทธ์เจาะ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มตลาดศักยภาพ 7 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร 2.กลุ่มตลาดส่งเสริมภาพลักษณ์ 2 ภูมิภาค คือ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ผลไม้ไทย 3.กลุ่มตลาดที่สะดวกต่อการขนส่ง 4 ประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งสามารถขยายการส่งออกผ่านระบบโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนต่ำ”
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการส่งเสริมการขายผลไม้ไทยในต่างประเทศ ผ่านการร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (Trade Fairs) และการส่งเสริมการขายในต่างประเทศ (Trade Promotion) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายตลาดผลไม้ไทยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี แนวทางทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 โดยมีเป้าหมาย : 950,000 ตัน ประกอบด้วย 7 มาตรการ 25 แผนงาน
- มาตรการสร้างความเชื่อมั่นผลผลิต 4 แผนงาน
- มาตรการส่งเสริมตลาดในประเทศ 8 แผนงาน เป้าหมาย 730,000 ตัน
- มาตรการส่งเสริมการแปรรูปและปรับพื้นที่เกษตรให้เหมาะสม 2 แผนงาน เป้าหมาย 220,000 ตัน
- มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ 4 แผนงาน
- มาตรการยกระดับสินค้าผลไม้ไทย 3 แผนงาน
- มาตรการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการค้า 2 แผนงาน
- มาตรการกฎหมาย 2 แผนงาน