TPIลุ้นไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน คิดการใหญ่เตรียมสร้างโรงไฟฟ้ารองรับ

“ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” ลุ้นรับอานิสงส์ทีพีไอ โพลีนประมูลไฮสปีด EEC เล็งขยายโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม ดันรายได้ถึงปี”62 ทะลุ 1.4 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ซึ่งเป็นบริษัทแม่บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ได้เข้าซื้อเอกสาร Request for Proposal (RFP) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งเป็น 1 ในโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในโปรเจ็กต์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นับเป็นครั้งแรกที่ TPI เข้าร่วมและมีความสนใจจะประมูลในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เนื่องจากศักยภาพของกลุ่ม TPI ที่มีความพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบเนื่องด้วยความชำนาญในอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างปูนซีเมนต์ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มพลังงานไฟฟ้า และอื่น ๆ ที่ยังสามารถเข้าซัพพอร์ตงานให้กันได้

“สำหรับความเสี่ยงในโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้แทบจะไม่มีเลย แต่กลับเป็นโครงการขนาดใหญ่การเชื่อมทั้ง 3 สนามบินเข้าด้วยกันนั้นไม่เคยมีมาก่อน ส่วนการที่ TPIPL จะจับคู่กับรายอื่นเพื่อยื่นซองประมูลนั้น คาดการณ์ว่าไม่น่าจะเป็นการยื่นประมูลเดี่ยว ๆ เพราะโครงการที่ต้องใช้วัตถุดิบจาก TPIPL อยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน เป็นที่สังเกตเห็นว่ามีบริษัทใหญ่บางรายที่ต้องจับมือกันเข้าประมูล เพราะไม่มีวัตถุดิบมีแต่เงินทุน และหวังที่จะได้ร่วมวงประมูลโครงการนี้ด้วย ส่วนบริษัทที่เชี่ยวชาญระบบรางอยู่แล้วอย่าง BTS อิตาเลียนไทย หรือ ช.การช่าง เขาสามารถเข้ายื่นเดี่ยวได้เพราะเขาชำนาญเรื่องโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของการซัพพอร์ตโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงทั่วไปนั้นแน่นอนว่าจะต้องใช้ไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็เช่นกัน เมื่อเกิดโครงการขึ้นตามเงื่อนไขของ TOR จะต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบของรัฐ นั่นหมายถึง TPIPP จะต้องขายไฟเข้าระบบเพื่อให้รัฐรับซื้อและเข้าไปซัพพอร์ตให้กับระบบไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ ขายให้รัฐอยู่ 163 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าขยะทั้งหมดเนื่องจากได้ราคาที่ 3 บาท และได้รับแอดเดอร์อีก 3.50 บาท ต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนที่จะไม่ได้แอดเดอร์ถึง 3.50 บาท จึงไม่ขายรัฐและกลับมาขายให้บริษัทแม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัท TPIPP ดำเนินธุรกิจ 2 ส่วน คือ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิต 280 เมกะวัตต์ และโรงกำจัดขยะ ซึ่งตามแผนการลงทุนปี 2561 เตรียมมีการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะเพิ่ม เนื่องจากยังคงมีขยะป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าไม่ถึง 10,000 ตัน/วันเท่านั้น ขณะที่ขยะทั้งประเทศมีถึง 70,000 ตัน/วัน สอดรับกับที่กระทรวงพลังงานได้เปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนจากขยะ ที่ขณะนี้ทั่วประเทศทุกโรงมีการขายไฟประมาณ 200 เมกะวัตต์เท่านั้น และในแผน PDP เดิมโรงไฟฟ้าจากขยะกำหนดไว้ที่ 500 เมกะวัตต์ จึงเหลืออีกกว่า 200 เมกะวัตต์ที่ต้องประมูลเข้าไป ดังนั้น ยังคงมีความจำเป็นต้องเดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าต่อไปตามแผน

ทั้งนี้ ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนระบบจากเดิมที่ให้ส่วนกลาง เอกชนแต่ละรายยื่นจำนวนเมกะวัตต์ที่ต้องการเข้าไป แต่ปัจจุบันได้กระจายไปตาม อบจ. รวมถึงเทศบาลแต่ละแห่งแบ่งให้กับเอกชนเอง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการร่าง TOR จากนั้นจะเปิดให้เอกชนเข้าไปบิดดิ้ง ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสการเติบโตของโรงไฟฟ้าขยะ

ในส่วนของบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ 5 โรง ในปีนี้จะขยายเพิ่มเป็น 8 โรง จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมทั้งหมด 440 เมกะวัตต์ โดยโรงในไตรมาส 2 นี้จะเริ่มเดินเครื่องการผลิตโรงที่ 6 จากนั้นไตรมาส 3 จะเป็นการผลิตโรงที่ 7 และไตรมาส 3-4 จะเดินเครื่องการผลิตโรงที่ 8 จนครบ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้นับตั้งแต่ปี 2560-2562 รวมทั้งสิ้นประมาณ 12,000-14,000 ล้านบาท

“การเติบโตของพลังงานไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เรามองจากจุดที่ลบไปยังจุดที่บวกกล่าวคือ โรงงานไฟฟ้าที่สร้างจากก๊าซธรรมชาติ อาทิ ถ่านหิน ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ก็คือจุดบวก ไปเป็นจุดบวก ต่อมาถ้าพลังงานจากลมและแสงแดด ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า คือการเริ่มจากศูนย์ไปยังจุดบวก แต่ที่เรามอง เรามองจากลบ คือ ขยะ มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าที่เป็นจุดบวก ดังนั้น การที่มุ่งเน้นผลิตไฟฟ้าจากมลพิษทางขยะเพื่อต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และพยายามเปลี่ยนทัศนียภาพของประเทศให้ดีขึ้น”