ม.หอการค้า ประเมินสงครามการค้าทุบมูลค่าส่งออกไทยหาย 351-2,881 ล้านดอลลาร์ ลด 0.14-1.13%

ม.หอการค้า ประเมินสงครามการค้าทุบมูลค่าส่งออกไทยหาย 351-2,881 ล้านดอลลาร์ ลด 0.14-1.13% และจีดีพีหด 0.12-1.02% แต่ส่งออกปี 61 ยังโต 8.1% คาดหากสหรัฐขึ้นภาษียานยนต์และชิ้นส่วนทำให้ส่งออกลดอีก 1-2%

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ทำการวิเคราะห์ที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 พบว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยลดลง 351 ล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 2,881 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 0.14-1.13% และกระทบต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ลดลง 0.12-1.02% แบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 หากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเก็บเพิ่มอัตรา 25% และเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่ม 20% ซึ่งจีนและอียูตอบโต้สหรัฐจะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลง 351 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 0.14% และจีดีพีลด 0.12%

กรณีที่ 2 หากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 25% และเก็บภาษีนำเข้าจากอียูมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 10% ซึ่งจีนและอียูตอบโต้สหรัฐ จะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลง 597 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 0.23% และจีดีพีลด 0.21% และกรณี 3 ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายสุดและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นน้อยสุด คือ สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม 25% กับทุกประเทศและประเทศต่างๆตอบโต้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลง 2,881 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 1.13% และจีดีพีลด 1.02%

“ทั้ง 3 กรณี คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้ในกรณีที่ 1 กับกรณีที่ 2 ส่วนกรณีสุดท้ายน่าจะเกิดขึ้นได้ยากสุด เพราะสหรัฐพุ่งเป้าที่จะแก้ปัญหาทางการค้ากับจีนเป็นหลัก ซึ่งการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบเพราะมีสินค้าที่ส่งออกเป็นซัพพลายเชนให้กับจีน” นายอัทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ยังได้ติดตามการที่สหรัฐจะใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งอาจมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ซึ่งจะเป็นผลกระทบไปทั่วโลก เพราะสินค้ายานยนต์เป็นกลุ่มการส่งออกใหญ่ที่มีซัพพลายเชนไปทั่วโลก โดยประเมินเบื้องต้นหากสหรัฐใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจริง จะกระทบทำให้การส่งออกไทยลดลงประมาณ 1-2% นอกจากนี้สงครามการค้ายังกระทบต่อไปถึงค่าเงินของแต่ละประเทศ ที่จะกลายเป็นสงครามค่าเงินต่อไป ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศพยายามทำให้ค่าเงินอ่อนค่า เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

ทั้งนี้ ศูนย์ฯได้ประเมินค่าเงินบาทของไทยหลังเกิดสงครามการค้า ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2561 ที่สหรัฐเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% และ 10% กับสินค้าจีนและประเทศคู่ค้ามีการตอบโต้ พบว่าค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 33.29 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าเป็นอันดับ 3 โดยค่าเงินหยวนจีนอ่อนค่ามากสุดอยู่ที่ 6.71 บาท/หยวน

สำหรับการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งได้รวมผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจจจะเกิดขึ้นแล้ว คาดว่าจะมีมูลค่า 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.5% เป็นการขยายตัวแบบชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกที่การส่งออกไทยขยายตัว 11% ส่งผลให้การส่งออกไทยปี 2561 มีมูลค่า 2.55 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.1% โดยมีปัจจัยบวก คือ เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโต แม้บางประเทศจะเติบโตในระดับต่ำกว่าปี 2560 เช่น จีน ญี่ปุ่น อียู สหรัฐต่อสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ให้ไทย และค่าเงินบาทอ่อนค่า

ด้านปัจจัยลบที่มีผลต่อการส่งออกไทย นอกจากเรื่องสงครามการค้าแล้ว ต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นถึง 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่สหรัฐคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทางอิหร่าน ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 2561 โดยห้ามบริษัทของสหรัฐทำการค้าขายและซื้อขายทอง และสหรัฐจะเริ่มการห้ามซื้อขายน้ำมันดิบกับทางอิหร่านในวันที่ 4 พ.ย. 2561 ด้วย ทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น และราคาสินค้าเกษตรของไทยตกต่ำ