บรรยากาศไทย-จีน ลงนาม MOU 10 ฉบับ ดันการลงทุน EEC

ผู้สื่อข่าว’ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2561 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นประธานและสักขีพยาน การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 10 ฉบับ ระหว่างไทย-จีน ซึ่งจัดขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี ได้แก่

1. หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือระหว่าง จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับบริษัท บีจีไอ-เซินเจิ้น จำกัด และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2. บันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการจีนในประเทศไทย

3. บันทึกความเข้าใจในข้อตกลงเพิ่มเติมโครงการร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยองประเทศไทย ระหว่าง บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) กับกลุ่ม บริษัท ก่อสร้างของมณฑลกวางสีประเทศจีน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

4. บันทึกความเข้าใจในการพัฒนาและการปฏิบัติงานของ Digital Park Thailand และสถาบัน IoT ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและ บริษัท ทัศ โฮลดิ้ง จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน

5. บันทึกความเข้าใจในการพัฒนา Cyberport ของธุรกิจ Startup ใน EEC ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันวิทยสิริเมธีและ บริษัท ทัศ โฮลดิ้ง จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน

6.บันทึกความเข้าใจร่วมกันในการสำรวจ แพลตฟอร์มการทดสอบเทคโนโลยี (testbed) และ การเป็นพันธมิตรร่วมกันในการนำใช้เทคโนโลยี 5G มาใช้ในเบื้องต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด 7.บันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่าง ศูนย์ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ CAC Telecom International Limited

8.เอกสารหลักการเกี่ยวกับ เคเบิ้ลไทยฮ่องกงระหว่าง กสท. โทรคมนาคม จำกัดมหาชนและ CAC Telecom International Limited

9.บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือระหว่าง เจียซู จอยลอง ออโตโมบิล และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

10.บันทึกความเข้าใจ เพื่อความร่วมมือระหว่าง บริษัท อันฮุย อันไค ออโตโมบิล จำกัด และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้อนรับคณะมนตรีแห่งรัฐของจีน นำโดย นายหวัง หย่ง พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงจากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจีนกว่า 500 คน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ และลงพื้นที่ศึกษาดูงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยผู้ต้อนรับจากประเทศไทย ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

“ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ที่ภาครัฐและผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนชั้นนำของจีนกว่า 500 คน เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการพร้อมกัน นำโดย นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน เพื่อประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 6 และร่วมสัมมนา “Thailand – China Business Forum 2018 : Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC” และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจจีนได้พบกับนักธุรกิจจีน จับคู่สร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ในประเทศไทย ”

โดยในวันนี้คณะนักธุรกิจจีนได้ร่วมลงพื้นที่รับฟังการบรรยายและศึกษาดูงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรับชมภาพฉายที่ชัดเจนว่าโครงการ อีอีซี คืออะไร และสัมผัสถึงศักยภาพของพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลไทยเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปปรับเปลี่ยนประเทศตามยุทธศาสตร์ “Thailand 4.0”

สำหรับการลงพื้นที่ จะจัดแบ่งคณะ 5 คณะ โดยเดินทางไปยัง 1) ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา 2) นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 3) นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซีบอร์ด 4) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) 5) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซีให้สำเร็จ โครงการ อีอีซี เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะสร้างแพลตฟอร์มการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง เพื่อสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคน ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของจีน

โดยการลงนาม MOU 10 ฉบับแบ่งเป็น 4กลุ่ม คือกลุ่มความร่วมมือด้านการลงทุน ความร่วมมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร และภาคอุตสาหกรรม และ EEC

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการ อีอีซี มีความคืบหน้าอยู่หลายด้านโดยเฉพาะเรื่องของความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) เป็นโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ โดยพลังของความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือในเอเชีย โดยเฉพาะจีนกับอาเซียน การที่อาเซียนจะแข็งแกร่งคือ CLVMT หรือ ACMECS ต้องแข็งแกร่งก่อน ซึ่งให้ความสำคัญกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้จากคุณหมิง ผ่านลาว มาถึง อีอีซี ซึ่งเชื่อมโยงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก อันจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ เช่น จีนใต้ลงสู่อ่าวไทยที่ อีอีซี ในขณะที่ลาวใช้ อีอีซี เป็นทางออกทะเลอยู่แล้ว และกัมพูชาใช้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักในการส่งออก

นอกจากนั้นยังมีความเชื่อมโยงทางรางและทางอากาศ ซึ่งก็คือ จีน – ลาว – ไทย โดยสรุป อีอีซี จึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ 3 จังหวัดเท่านั้นแต่ถูกกำหนดให้เป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเข้าสู่การพัฒนา CLMVT และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน วันนี้จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่เราได้เห็นว่าทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงศักยภาพอีอีซี จึงเดินทางมาศึกษาดูงานและริเริ่มความร่วมมือระหว่างกันในการลงนามบันทึกความเข้าใจ ปักธงในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกัน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยได้มีโอกาสเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ และทั่วโลกด้วยเทคโนโลยี ทั้งในแง่ของการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ รวมทั้งการใช้ดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และก็มีผู้ประกอบการจีนจำนวนไม่น้อยที่ได้เข้ามาร่วมมือกับบริษัทไทย และรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง และวันนี้ยังเป็นโอกาสที่ไทยและจีนจะเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันอีกหลายด้าน ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาเทคโนโลยีเคเบิลใต้น้ำ ศูนย์ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต การพัฒนาสนามทดสอบและพันธมิตรเพื่อนำเทคโนโลยี 5 จี ไปใช้ในช่วงต้น ที่จะเชื่อมไทยเข้ากับเส้นทาง One Belt One Road โดยความร่วมมือไทย-จีนครั้งนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์ร่วมกัน