“นบข.”เบรกเช่ายุ้งฉางโรงสี รุมแฉพิรุธระบายข้าวซ้ำอีก

นบข.เบรกจำนำยุ้งฉาง สกต. ด้านวงการค้าข้าวแฉอีก “พีเอ วู้ดเพลเลท” รายใหม่กว้านซื้อข้าวสารเก่าสต๊อกรัฐเกือบแสนตัน ราคาแพงเกินเหตุ กก.ละ 7 บาท ผลิตชีวมวลวัดใจ นบข.เคาะระบายในสัปดาห์นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมีมติเห็นชอบให้การดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (รับจำนำยุ้งฉาง) ปี 2561/2562 โดยให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรเป็นผู้รับฝากข้าวเปลือกหอมมะลิต้องใช้สถานที่เก็บของตัวเองเท่านั้น ห้ามเช่าใช้สถานที่ของผู้อื่นมาฝากเก็บ เป็นผลมาจากวงการค้าข้าวได้ออกมาคัดค้านกรณีที่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. (สกต.) เตรียมเช่าคลังเอกชนในการโครงการรับฝากเก็บข้าวชะลอขายข้าวเปลือก ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตนำข้าวเปลือกหอมมะลิราคาสูงไปจำหน่ายแล้วนำข้าวชนิดอื่นมาสวมแทน คล้ายกับกระบวนการเวียนเทียนข้าวในโครงการรับจำนำข้าวในอดีต

ล่าสุดแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐที่เปิดประมูลเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ในส่วนของข้าวสารเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน กลุ่มที่ 2 ปริมาณ 245,000 ตัน ปรากฏชื่อบริษัท พีเอ วู้ดเพลเลท จำกัด เข้าร่วมประมูลข้าวเพื่อนำไปผลิตชีวมวลในราคา กก.ละ 7 บาท มีปริมาณเกือบ 1 แสนตัน ถือว่าให้ราคาสูงกว่ารายอื่นที่ประมูล กก.ละ 5-6 บาท และเท่าที่ทราบบริษัทดังกล่าวมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี โดยปี 2560 ขาดทุน 4.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ขาดทุน 4.046 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลบริษัทเบื้องต้น พบว่ามีเลขทะเบียนนิติบุคคลเลขที่ 0715556001379 จัดตั้งวันที่ 9 กันยายน 2013 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดขนาดเล็กตั้งอยู่ที่เลขที่ 79 ม.3 ต.เขาสามสิบหาบ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี บริษัทดังกล่าวมี นายชาตรี ยู่กี ถือหุ้นสัดส่วน 55% นางสาวพัชราพร เจียงสกุล ถือหุ้นสัดส่วน 35% และนางสาวนงนุชศิริรัตโนทัย ถือหุ้นสัดส่วน 10%

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะสรุปผลการยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลลอตสุดท้ายเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ก่อนนำเสนอประธาน นบข. พิจารณาอนุมัติ โดยเบื้องต้นผลจากการที่กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน กลุ่มที่ 2 ปริมาณ 245,000 ตัน ในราคาเฉลี่ยตันละ 6,670 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอซื้อรวม 1,655 ล้านบาท ขณะที่ข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ กลุ่มที่ 3 ลอตสุดท้าย ปริมาณ 22,300 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 4,584 บาท คิดเป็นมูลค่า 114 ล้านบาท


ทั้งนี้ สต๊อกข้าวสารที่คสช.เข้ามาบริหารทั้งหมดมี 18.7 ล้านตัน แต่มีข้าวจริง 17.7 ล้านตัน นำออกมาประมูลแล้ว 16.91 ล้านตัน และรับมอบไปแล้ว 12.6 แสนตัน