กมธ.ดันต่อร่าง “พ.ร.บ.ข้าว” TDRI จับมือชาวนา-โรงสี-ผู้ส่งออกต้าน

ภาพ แฟ้มภาพ
นักวิชาการ TDRI ระดมกำลัง 4 สมาคม ค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าวอีกรอบ หวั่นกระทบชาวนาปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ไม่ได้-โรงสีต้องออกใบรับรองการรับซื้อข้าวเปลือก โทษสูงคล้ายทำอาชญากรรม 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ได้ศึกษาเนื้อหา ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. ซึ่งทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะสรุปเตรียมจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ในเร็ว ๆ นี้ เห็นว่า ร่างแก้ไขดังกล่าวยังมีจุดที่น่าจะเป็นปัญหา เพราะยังไม่ได้แก้ไขประเด็นใหญ่ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจและการทำการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ ตามมาตรา 27 กฎหมายให้อำนาจเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นหมายความว่า ชาวนาที่ทำเกษตรและมีวิถีชีวิตในการเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้เองแบบในอดีตจะไม่สามารถทำได้ เพราะมีโทษสูงถึง จำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ต้องเข้าใจระบบก่อนว่า ชาวนามีการเก็บและพัฒนาพันธุ์ข้าวใช้เอง ทำให้เกิดพันธุ์ดี ๆ เช่น ข้าวเสาไห้ หรือข้าวสังข์หยด แต่การพัฒนาโดยชาวนาจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ระบบบริษัทที่จะมีการขึ้นทะเบียนรับรอง หากกฎหมายมีผล นอกจากจะไม่สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาพันธุ์แล้ว ยังกำหนดโทษสูงถึง จำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนี้ ยังคงมาตรา 34 ภายใต้บทเฉพาะกาลที่โอนอำนาจการรับรองพันธุ์ใหม่ให้กรมการข้าว เป็นประเด็นที่มี conflic of interest เพราะกรมการข้าวเป็นผู้คุมเงินงบประมาณ เป็นผู้วิจัย และเป็นผู้รับรองตัวเอง และปัญหาเรื่องการกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงสี ต้องออกใบรับรองข้าวเปลือก หากพบว่าออกใบรับรองเป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ

ทั้งจำทั้งปรับ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงสีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นของกรมการค้าภายใน และการให้อำนาจนี้เสี่ยงต่อประเด็นการเรียกรับ (การทำมาหากิน) ของเจ้าหน้าที่ ทำเสมือนว่าโรงสีที่ทำธุรกิจเป็นผู้ประกอบอาชญกรรม ซึ่งเท่าที่เห็นร่างนี้ก็ยังคงอยู่

นอกจากนี้ องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการด้านการผลิต และคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ยังไม่ครบถ้วน ขาดในส่วนของผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรงสี/ผู้ส่งออก เน้นแต่ข้าราชการโดยตำแหน่ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการครอบงำการทำงานได้ อีกทั้งในกระบวนการทำงานยังขาดการบูรณาการด้านงบประมาณ และไม่มีประเด็นเรื่องการตรวจสอบติดตามการทำงานเลย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่แก้ไขแล้วดีขึ้นจากร่างก่อน คือ การตัดมาตราเรื่องอำนาจหน้าที่ของกรมการข้าวออก พร้อมทั้งยกระดับอำนาจของกรมการข้าว และกรมการค้าภายในให้เท่ากัน โดยมีทั้งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นฝ่ายเลขานุกรม และตัดมาตรา 22-26 ซึ่งเป็นเรื่องการดูแลการผลิตออกไป และยกเลิกแผนการพยากรณ์ราคาข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีทางทำได้ออกไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ทางทีดีอาร์ไอจะจัดสัมมนาระดมสมองเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. : ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง” โดยเชิญ นายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว เข้าร่วมให้ความเห็น


ด้านนางจินตนา ชัยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เข้าไปให้ข้อมูลให้ความเห็นในการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. ภายใต้คณะกรรมาธิการวิสามัญ เบื้องต้นได้มีการแก้ไขไปหลายประเด็น ยกเว้นเรื่องเมล็ดพันธุ์ยังคงต้องยึดตามหลักการ พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์ คาดว่าจะสรุปได้ในสัปดาห์หน้า