สหรัฐบี้ตั้งสหภาพต่างด้าว ธุรกิจเจอ2เด้งแรงงานหาย1ล้าน

เอกชนมึน สางพิษ กม.ต่างด้าวไม่ทันจาง เจอปมใหม่ซ้ำ สหรัฐบี้ไทยออกกฎหมายใหม่เปิดทางต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานคานนายจ้าง สภาหอฯดัน กกร.หัวหอกค้าน รมว.แรงงานบินถกด่วน เมียนมาŽ ลดขั้นตอนออกใบอนุญาตทำงานเหลือ 30 วัน หวั่นแรงงาน 3 ชาติขาดล้านคน

แม้รัฐบาลจะแก้ล็อก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกคำสั่งยืดระยะเวลาการบังคับใช้บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ออกไป 180 วัน ถึง 1 ม.ค. 2561 และให้กระทรวงแรงงานพิจารณาปรับแก้กฎหมายภายใน 120 วัน แต่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังเจอปัญหาใหม่ซ้ำ จากที่สหรัฐกดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งสหภาพแรงงานได้โดยมีกฎหมายรองรับ

สหรัฐจี้ต่างด้าวตั้งสหภาพ

แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผย ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการด้านแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าฯ ได้หยิบยกประเด็นที่ภาครัฐอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับขึ้นหารือ เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากเอกชนกังวลว่า หากกฎหมายประกาศบังคับใช้จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

โดยภาครัฐให้เหตุผลว่า การผลักดันยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการเข้าร่วมอนุสัญญาด้านแรงงานสากล ฉบับที่ 87 เกี่ยวกับการรวมตัวจัดตั้งสหภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐเรียกร้องผ่านการประชุมกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ (TIFA) ก่อนหน้านี้ และฉบับที่ 98 เกี่ยวกับการให้สิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง ทั้งนี้ นอกจากร่างกฎหมายที่กระทรวงแรงงานยกร่างขึ้นจะผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ให้ความเห็นชอบด้วย

ในส่วนของสภาหอการค้าฯไม่รู้เรื่องมาก่อน เพิ่งจะทราบจากกรรมาธิการ สนช. ซึ่งเป็นช่วงที่กระทรวงแรงงานดึงกฎหมายกลับมาแก้ไขบางประเด็นที่ยังเห็นต่างกันอยู่ สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลมาก คือ มาตรา 91 และมาตรา 101 วรรค 2 ซึ่งจะทำให้บทบาทของแรงงานต่างด้าวมีมากขึ้น เดิม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ไม่ได้มีการจำกัดสิทธิของแรงงานต่างด้าวในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน แต่ฉบับใหม่กลับกลายเป็นว่า มีความพยายามให้แรงงานต่างด้าวสามารถจัดตั้งสหภาพได้เอง หรือให้สิทธิในการเป็นกรรมการสหภาพŽ

ADVERTISMENT

ดัน กกร.หัวหอกค้าน

ADVERTISMENT

แหล่งข่าวกล่าวว่า มีการถกกันเกี่ยวกับให้สิทธิ์ให้กรรมการต่างด้าวไม่เกิน 1 ใน 5 ของกรรมการสหภาพ และกรรมการสามารถออกเสียงในเรื่องสำคัญ ๆ ตามข้อกำหนดของสหภาพแรงงานทั่วไปที่ระบุว่า เรื่องใดก็ตามที่มีผลต่อมวลสมาชิกทั้งหมด เช่น การเปลี่ยนสภาพการจ้าง เปลี่ยนแปลงสวัสดิการต่าง ๆ จะต้องฟังเสียงมติสหภาพแรงงานทั้งหมด เอกชนจึงกังวลว่า กรณีที่บริษัทหรือโรงงานมีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวมากกว่าคนไทย

แม้ตามกฎหมายจะให้ต่างด้าวเป็นกรรมการได้ 1 ใน 5 แต่หากโรงงานนั้นมีคนงานต่างด้าว 8,000 คน จากแรงงานทั้งหมด 10,000 คน เวลาโหวตเรื่องสำคัญใครจะชนะ กรรมการชนะ หรือสมาชิกส่วนใหญ่ 8,000 คนชนะ ยิ่งยอมให้แรงงานต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพเองได้ จะยิ่งมีผลเชื่อมโยงถึงเรื่องความมั่นคง เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สภาหอฯที่เป็นห่วง แต่สหภาพแรงงานไทยหลาย ๆ สหภาพก็แสดงความกังวลŽ ที่ประชุมจึงเห็นพ้องกันว่า ควรผลักดันใช้กลไกคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอทบทวนแก้ไขร่างกฎหมายนี้ใหม่ โดยขอให้ตัวแทนหอการค้า 77 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมในไตรภาคี เพื่อให้ความเห็นแทนนายจ้างตัวจริง เสียงจริง แม้รัฐจะมองว่าไทยจำเป็นต้องยอมรับอนุสัญญา เพื่อให้นานาชาติเห็นว่าเราเป็นชาติที่ศิวิไลซ์แล้ว จึงควรใช้กลไก กกร.เข้ามาช่วย แต่โฟกัส โดยตั้งคณะอนุกรรมการมาดูรายละเอียดแต่ละประเด็น

หวั่นกระทบเมกะโปรเจ็กต์

นอกจากนี้ ที่ประชุมสภาหอการค้าฯยังชี้ว่า บทบัญญัติกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เรื่องสหภาพแรงงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะการให้แรงงานต่างด้าวตั้งเป็นสหภาพแรงงานต่างด้าวได้ในอนาคตจะมีพลังค่อนข้างมากในการกำหนดหรือต่อรอง ในอีกมุมหนึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทำให้การทำงานไม่สะดวก โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หากมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานรถไฟฟ้าความเร็วสูง สหภาพแรงงานต่างด้าวมอเตอร์เวย์ สหภาพแรงงานต่างด้าวการก่อสร้างอาคารชุด เป็นต้น มีปัญหาขึ้นมาจะทำอย่างไร

ในส่วนของสภาหอการค้าฯ เบื้องต้นเสนอขอปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่เห็นว่ายังเป็นปัญหาหลายประเด็น

จวกนายจ้างตัวจริงไม่ได้รับรู้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นไม่ต่างไปจากการออกกฎหมายแรงงานหลาย ๆ ฉบับก่อนหน้านี้ คือ ตัวแทนเอกชนตัวจริงแทบไม่ได้รับรู้ แม้กระทรวงแรงงานจะทำหนังสือเชิญ และดึงตัวแทนสภานายจ้าง สภาลูกจ้างเข้าไปให้ความเห็น แต่สภาหอการค้าฯซึ่งมีนายจ้างตัวจริงกลับไม่รับทราบเลย ที่อ้างว่าเป็นสภานายจ้าง เป็นใครไม่ทราบ จึงไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง

ขณะที่ตัวแทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้อธิบายชี้แจงหลักการเหตุผลในการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ว่า เป็นการแก้ไขทั้งฉบับ ยกร่างใหม่เลย จากก่อนหน้านี้มีการปรับปรุงแก้ไขเมื่อปี 2534 แยกรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะ คือ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2543 ซึ่งกฎหมายนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน จึงต้องปรับให้ทันสมัย สอดคล้องกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ที่ต้องนำย้อนกลับมาปรับแก้ เพราะมีการมองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ดูแลเฉพาะลูกจ้างและนายจ้างเท่านั้น ควรดูแลไปถึงคนทำงาน (Worker) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.กระทรวงแรงงาน จึงให้นำร่างกฎหมายมาแก้ไขใหม่ ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรที่อนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศยอมรับดำเนินการร่วมกัน

ออกเกณฑ์ขออนุญาตทำงาน

สำหรับความคืบหน้าในการหาแนวทางลดผลกระทบจากกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว หลังรัฐใช้ ม.44 ยืดเวลาการบังคับใช้บทบัญญัติหลายมาตราไป 180 วัน ล่าสุดนอกจาก นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ตามที่ผู้ประกอบการเรียกร้องแล้ว วันที่ 6 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้มีผลตั้งแต่ 23 มิ.ย. 2560 สาระสำคัญเป็นการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการขออนุญาต และการอนุญาตให้ทำงาน

ทั้งนี้ อธิบดีกรมการจัดหางานระบุว่า อัตราโทษตาม พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอาจรุนแรง แต่เมื่อเทียบกับกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และกฎหมายการประมงแล้ว อัตราโทษใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามจะพิจารณาข้อเสนอของเอกชนที่ขอให้ปรับโทษลดลง เนื่องจากนายกฯได้สั่งการและกำชับให้นำประเด็นนี้มาพิจารณาให้รอบคอบรัดกุมที่สุด

รมว.แรงงานนำทีมหารือเมียนมา

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 6 ก.ค. 2560 ได้ให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.ดังกล่าว เท่ากับ พ.ร.ก.การบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มีผลเป็น พ.ร.บ. บังคับใช้เหมือนกฎหมายปกติแล้ว ส่วนกระบวนการขั้นตอนในการยื่นขออนุญาต และอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงานนั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ผู้บริหารทุกระดับกำชับให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง ต่างจังหวัด เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่อย่างปกติการนำเข้าแรงงานในรูปแบบ MOU มีระยะเวลาดำเนินการ 30-45 วัน จะร่นระยะเวลาในส่วนของฝั่งไทย แต่ในแง่การปรับระบบการทำงานประเทศต้นทางอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา อาจมีกระบวนการหลายขั้นตอน เช่น ลาว หากจะทำพาสปอร์ต ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่บ้าน ผู้จัดการแขวงก่อน เป็นต้น ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและต้องใช้เวลา

ล่าสุดวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน พร้อมคณะ ซึ่งมีนายวรานนท์ อธิบดีกรมการจัดหางานร่วมไปด้วย ได้เดินทางไปเมียนมา โดยมีกำหนดการหารือกับทางการเมียนมา จากนั้นสัปดาห์หน้าจะไปเยือนลาว และกัมพูชาต่อไป เป้าหมายคือเจรจาขอความร่วมมือจากประเทศต้นทาง 3 ประเทศ ร่นระยะเวลากระบวนการทำงานและการออกเอกสาร ตั้งเป้าหมายลดระยะเวลาเหลือไม่เกิน 30 วัน

ผวาแรงงานต่างด้าวขาดล้านคน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนหลายองค์กรเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐขยายเวลาจากที่ยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 180 วันออกไปอีก เพราะหวั่นเกรงว่าแรงงานต่างด้าวซึ่งมีจำนวนมากที่อยู่ในข่ายต้องออกไปจัดทำเอกสารหลักฐานในประเทศต้นทาง ก่อนกลับเข้ามายื่นขอเวิร์กเพอร์มิตในไทยไม่ทัน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวถือบัตรสีชมพู ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1.3 ล้านคน หากไม่สามารถหาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ได้ หรือมีเอกสารแต่กระบวนการพิจารณาในประเทศต้นทางล่าช้า ช่วง 1-2 เดือนนี้อาจทำให้แรงงานต่างด้าวนับล้านคนกลับเข้ามายื่นขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยไม่ทัน จะส่งผลให้แรงงานขาดในระยะสั้นนับล้านคนด้วย

สำหรับสถิติแรงงานต่างด้าว ณ เดือน เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานระบุว่า มีทั้งหมด 2.5 ล้านคน แยกเป็น เมียนมา 1.7 ล้านคน ลาว 1.7 แสนคน กัมพูชา 6.7 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นการเข้ามาโดยมีการพิสูจน์สัญชาติ 8.7 ล้านคน ภายใต้ข้อตกลงระหว่างไทยกับ 3 ประเทศ 3.9 แสนคน ผ่อนผันตามมติ ครม. 1.2 ล้านคน อยู่ในภาคการประมง 3.4 หมื่นคน แปรรูปสัตว์น้ำ 6 หมื่นคน และรับจ้างตามแนวชายแดน 1.8 หมื่นคน

หนุนกลุ่มผิดกฎหมายเข้าระบบ

ด้านนายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายว่า ที่กระทรวงแรงงานจะเปิดศูนย์เฉพาะกิจทั่วประเทศขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ในวันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. 2560 นั้น ที่ประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติมีมติว่า 1.รัฐบาลให้เวลาน้อยเกินไป ควรเปิดขึ้นทะเบียนตลอดระยะเวลาการผ่อนผันการจับกุม 180 วัน เพราะแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ควรเปิดให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องให้มากที่สุด 2.แรงงานประเภทสีเทา เช่น เคยมีบัตรการทำงานถูกกฎหมาย แต่บัตรหมดอายุ กับแรงงานสีดำที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย เข้าเมืองผิดกฎหมาย รัฐควรรับขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องทั้งหมด 3.หลังการผ่อนผันการจับกุม 180 วัน รัฐจะกวดขันจับกุมอย่างไร สภาเกษตรกรแห่งชาติไม่ขัดข้อง แม้ค่าปรับจะสูงก็ตาม