ไฮบริดโชห่วย แพลตฟอร์มใหม่ต่อยอดค้าปลีกไทย

“ไฮบริดโชห่วย” แพลตฟอร์มใหม่ของการค้าโชห่วย ที่ได้หน่วยงานอย่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน การค้ารูปแบบใหม่ให้กับ “ร้านโชห่วย” เพื่อให้การค้าสามารถจะเข้าถึงลูกค้า ผู้บริโภค ได้ง่ายขึ้น ตามการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ชุมชน ได้มากขึ้น

โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโครงการไฮบริดโชห่วยที่จะดำเนินการว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปคัดเลือกร้านโชห่วยที่อยู่ในเครือข่าย ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 50 ราย ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการเข้าโครงการไฮบริดโชห่วยนี้ก่อน โดยกำหนดว่าภายใน 2 เดือนจากนี้จะต้องมีไฮบริดโชห่วยออกมาแล้ว และอนาคตเป้าหมายจะขยายไฮบริดโชห่วยออกไปอย่างต่อเนื่องเป็น 1,000 ร้านค้าได้

ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการนั้น เบื้องต้นยังไม่สรุป เนื่องจากหากโครงการสามารถดำเนินการได้ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ต้องดูผลที่ได้ หากจำเป็นอาจจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในการพิจารณาต่อไป เพราะต้องติดตามประเมินผลด้วยภายหลังจากที่เปิดโครงการไปแล้วว่ามีปัญหาการ ดำเนินการติดขัดหรือไม่

สำหรับรูปแบบการค้าของโครงการไฮบริดโชห่วย นั้น จะมีการคัดเลือกร้านค้าโชห่วยเดิมที่มีศักยภาพอยู่แล้วเข้ามาในโครงการ ส่วนการค้ารูปแบบเดิมยังให้ร้านค้าดังกล่าวดำเนินการค้าขายเป็นปกติ แต่สิ่งที่จะปรับปรุงเพิ่มเติม คือ ส่งเสริมและพัฒนาการค้าในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ หรือออนไลน์ โดยกระทรวงดีอีเป็นผู้พัฒนาออกแบบรูปแบบการค้าออกมา ส่วนการขนส่ง กระจายสินค้า ได้รับความร่วมมือจากบริษัทไปรษณีย์ไทยในการขนส่ง กระจายสินค้า เชื่อมโยงสินค้าในพื้นที่ให้กับผู้บริโภค ผู้ผลิต รวมไปถึงเกษตรกร

“กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้นจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดสรรร้านโชห่วย ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ และจะเข้าไปให้ความรู้ พัฒนาร้านค้า เพื่อการแข่งขัน และการค้าขายสินค้าที่เหมาะสมจะนำมาจำหน่าย เป็นต้น ส่วนระบบการค้า การขนส่งจะมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้าไปช่วยเหลือ ส่วนการคัดเลือกร้านโชห่วยที่จะมาเข้าร่วมโครงการนั้น ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาจากร้านค้าที่มาจากกองทุนหมู่บ้าน หรือร้านค้าที่มาจากสมาชิกของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเท่านั้น แต่จะเปิดโอกาสให้ร้านค้าที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าโครงการได้”

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะดำเนินการเปิดไฮบริดโชห่วย 50 ร้านค้าภายในอีก 2 เดือน ทางคณะทำงานไฮบริดโชห่วยที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลัก จะต้องมีการประชุมและสรุปแนวทางการดำเนินการทั้งหมดของโครงการก่อน เพื่อให้ได้แนวทาง ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนจะเปิดเป็นทางการต่อไป โดยจะเร่งหารือเร็ว ๆ นี้

Advertisment

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางของโครงการไฮบริดโชห่วย เพราะจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ชุมชน และเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของร้านโชห่วยให้เข้าถึงลูกค้าผู้บริโภค ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าห้างสรรพสินค้า ร้านค้าดัง ๆ ต่างให้ความสำคัญกับการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เนื่องจากเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องการให้ความสำคัญ และหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาดูแลต้องมุ่งเน้น คือ “ความยั่งยืนของโครงการ”

เพราะรูปแบบการค้าจะออกมาอย่างไรเพื่อให้ร้านโชห่วยสามารถอยู่ได้นานและแข่งขัน ได้ อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยสิ่งที่ต้องศึกษา คือ รูปแบบการขายสินค้าที่จะนำมาขาย รวมถึงการกระจายสินค้าให้กับผู้บริโภคอย่างเหมาะสมในทุกพื้นที่ หรือลูกค้าที่เดินเข้ามาซื้อ ทางสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทยต้องการให้เลือกร้านโชห่วย เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางในการค้า การขนส่งสินค้า รับสินค้าจากชุมชน เกษตรกรในพื้นที่มาขาย

Advertisment

“ผมมองว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะต่างจังหวัดยังนิยมเลือกซื้อ จับจ่ายสินค้าด้วยตนเอง มากกว่าจะเลือกซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากไม่มั่นใจในการซื้อสินค้า ดังนั้น การเลือกร้านค้าที่จะตั้งเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ลูกค้าได้มาหยิบจับ เลือกซื้อ คัดสรรสินค้าที่ถูกใจ ก่อนนำมาขาย หรือให้ลูกค้าได้ตัดสินใจซื้อสินค้านั้น ๆ ยังจำเป็นสำหรับสังคมไทย”

นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากจะเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้น หากผู้ซื้อ ผู้บริโภค ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง การซื้อสินค้าน้อยชิ้นอาจจะไม่คุ้มต่อการจัดส่งกับผู้ซื้อที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพื่อให้การกระจายสินค้าหรือขนส่งได้ง่ายขึ้น และสินค้าที่จะเข้าไปสู่ระบบออนไลน์ต้องการให้มองสินค้าที่เหมาะสมมากที่สุด เช่น นาฬิกา เครื่องสำอาง เสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ของชุมชน สินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่า คุ้มค่าในการจัดส่ง ขณะที่สินค้าในกลุ่มของกินบางอย่างอาจจะไม่คุ้มค่า จึงต้องการให้มีการคัดเลือกให้เหมาะสมมากที่สุด

อย่างไรก็ดี มองว่านโยบายที่จะดำเนินการโครงการไฮบริดโชห่วยถือเป็นเรื่องที่ดี ในระยะยาวจะเป็นช่องทางสำหรับการค้าในชุมชนได้ สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตสินค้า เกษตรกร แต่ต้องมีรูปแบบการค้าที่ชัดเจน สินค้าเหมาะสมในการค้าออนไลน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ด้วย เพราะหากทำไปแต่ผู้ซื้อไม่รู้ อาจจะไม่เห็นผลดีที่เกิดขึ้น

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงดีอี กระทรวงพาณิชย์ มีการหารือเพื่อที่จะยกระดับร้านโชห่วยเดิมให้มีศักยภาพที่ดีขึ้น โดยนำเรื่องของอินเทอร์เน็ตเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบการค้าออนไลน์ ระบบการจ่ายเงินผ่านออนไลน์ ซึ่งทางกระทรวงดีอีอยู่ระหว่างการหารือและออกแบบการดำเนินการโครงการว่าควร ออกมาในรูปแบบอย่างไร หากได้ข้อสรุปจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการดีอีพิจารณา ก่อนจะนำเสนอรูปแบบการค้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ดี ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ออกแบบ ซึ่งเป้าหมายต้องการเปิดให้บริการแก่ประชาชนให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2560 และหากสามารถพัฒนาและมีศักยภาพในการแข่งขัน อาจจะขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง

ในหมู่บ้านต่าง ๆ โดยทางกระทรวงดีอีเองจะมีพี่เลี้ยงไว้คอยเข้าไปดูแล ติดตาม เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และอนาคตอาจจะกลายเป็นจุดที่คอยให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนต่อไปนอกจากการยกระดับการค้าออนไลน์ของชุมชนแล้ว