ปัจจัยลบถล่มส่งออก Q1 อ่วม สรท.เล็งใช้ “4 สกุลเงินท้องถิ่น” แก้บาทแข็ง

ลุ้นส่งออกไตรมาส 1 ติดลบ 1.8% บาทแข็ง-ปิดน่านฟ้าทำส่งออกทางอากาศป่วน สภาผู้ส่งออกฯโร่พบ ธปท. แก้ปมค่าบาท เตรียมปลดล็อกส่งออกสกุลเงินท้องถิ่น 4 ประเทศ ส่วนปิดน่านฟ้าบินอ้อมจีนยังไม่กระทบเป้าส่งออกปี”62 โต 5%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) พร้อมคณะได้เข้าพบ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมคณะ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลหลังจากอัตราแลกเปลี่ยนของไทยแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ต้นปีประมาณ 0.9% โดยล่าสุดอยู่ที่ 31.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งทางภาคเอกชนกังวลว่า ประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะการกำหนดราคาส่งออกสินค้า สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร

โดยหากเทียบกับสกุลเงินอื่นพบว่ามีความแตกต่างกัน เช่น ในอาเซียน มาเลเซีย แข็งค่า 4.4% สิงคโปร์แข็งค่า 2.7% อินโดนีเซีย แข็งค่า 2.8% เวียดนาม แข็งค่า 2% มีเพียงฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 0.4% กัมพูชา อ่อนค่า 0.1% ขณะที่ตลาดหลัก เช่น สหภาพยุโรป แข็งค่า 8.6% ญี่ปุ่นแข็งค่า 5.8% จีน แข็งค่า 5.6% เกาหลี แข็งค่า 4.5% อินเดีย แข็งค่า 8.7% ออสเตรเลีย แข็งค่า 9.7% ส่วนอังกฤษอ่อนค่า 6.9% เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ทางสภาผู้ส่งออกได้เข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ว่าอาจมีมูลค่า 61,714 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.8% เพราะไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยเสี่ยงจากค่าบาท แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงและความแน่นอนที่เกิดขึ้น สงครามการค้า ขณะที่ค่าเงินส่งผลกระทบส่วนหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.3% ของภาคการส่งออก

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนส่วนหนึ่งมาจาก current account และการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ แต่การแข็งค่าในครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน เนื่องจากไม่ได้รับความผันผวนมาจากปัญหาเงินร้อน (เงินที่เข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น) อย่างไรก็ตาม หากมีการแทรกแซงค่าเงินมากจนทำให้ “ค่าเงินไม่มีความผันผวน” จะส่งผลให้นักลงทุนเอาเงินเข้ามาพักในประเทศไทยและยิ่งทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นมากกว่าเดิม ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และประเทศข้างเคียงอย่าง ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย

“ไทยต้องพยายามไม่ใช้เครื่องมือแทรกแซงทางการเงินมากเกินไป จนสร้างความได้เปรียบทางการค้า เพราะอาจจะทำให้กลายไปอยู่ในกลุ่ม watch list ของทางสหรัฐ ดังนั้น เครื่องมือสำคัญที่ทางผู้ประกอบการสามารถใช้เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงินได้ คือ FDC, Fx Forward/option, NRCA และ Local currency ซึ่งเท่าที่ทราบผู้ประกอบการมีการใช้เครื่องมือจัดการความเสี่ยงทุกชนิดเพิ่มขึ้นจากปีก่อน”

สำหรับเครื่องมือทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ในส่วนของมาตรการใช้ local currencies นั้น ทาง ธปท.แจ้งว่าได้สนับสนุนให้มีการ invoicing เป็นเงินบาทและเงินตราสกุลท้องถิ่น (home currency) โดยได้ทำข้อตกลงให้ดำเนินการร่วมกัน อาทิ หยวน (ทุกมณฑล) มาเลเซียนริงกิต อินโดนีเซียนรูเปียห์ และญี่ปุ่นเยน โดยที่สามารถแปลงค่าเงินเป็นเงินบาทได้ทันที ไม่ต้องแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐก่อน รวมถึงให้เลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการค้ากับชาติสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนผ่านเงินดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งทางเอกชนเสนอว่า ควรขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศสมาชิกอาเซียนในฐานะ home market เช่น ไปยังเมียนมา หรือกัมพูชา ให้สามารถใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกยังคงคาดการณ์เป้าหมายการส่งออกปีนี้ขยายตัว 5% ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่กระทบการส่งออกโดยเฉพาะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอาจจะมีผลต่อต้นทุนทางการค้า ล่าสุดได้เข้าพบกับธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดแนวทางเบื้องต้นในการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการกำหนดราคาสินค้าส่งออก เช่น ไทย-จีน ไทย-ญี่ปุ่น หรือไทย-มาเลเซีย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จะมีการกระตุ้นให้ใช้เพิ่มขึ้นโดยการลดเรื่องของค่าธรรมเนียมหรือการแลกเปลี่ยนสกุลเงินได้ และให้ดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่า

ล่าสุด ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาความไม่สงบระหว่างอินเดียและปากีสถานส่งผลกระทบระยะสั้นต่อการขนส่งทางอากาศ ทำให้ผู้ส่งออกมีความกังวลเรื่องต้นทุนการส่งออกทางอากาศที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใช้เส้นทางหลักบินตรงผ่านอินเดียและปากีสถานไปตลาดยุโรปได้ ซึ่งเมื่อมีการปิดน่านฟ้าขึ้นทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางบินไปทางจีน เพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรป ทำให้ระยะทางการขนส่งไกลขึ้นและมีต้นทุนต่อการขนส่งเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ส่งออกซึ่งอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำตลาด

“สินค้าหลักที่มีการส่งออกไปตลาดยุโรปผ่านระบบสายการบิน จะเป็นสินค้าผักและผลไม้และกล้วยไม้ ขณะนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าได้อย่างปกติ ซึ่งยังได้ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อปริมาณ หรือคิดเป็นต้นทุนมากน้อยเพียงใด ขณะที่สินค้าที่ใช้ระบบส่งออกโดยการขนส่งทางเรือในขณะนี้ยังไม่มีปัญหา”

นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออก เช่น บรรยากาศการค้าโลกจากภาวะสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ การเจรจาของอังกฤษเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มาตรการทางการค้า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีความล่าช้า และมีผลต่อการต่อรองสิทธิพิเศษทางภาษี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ควรมีการเปิดตลาดใหม่ทดแทนตลาดหลัก เพื่อกระจายความเสี่ยงการค้า โดยให้เร่งเปิดเจรจาสิทธิพิเศษทางการค้าให้มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น