“คิงส์เกต” ได้เงินชดเชยจากประกันภัยทางการเมืองจริงเกือบ 2,000 ล้านบาท ที่ไทยสั่งปิดเหมืองทอง

คิงส์เกต บริษัทแม่อัครา เหมืองทองคำชาตรี แจงบริษัทประกันภัยจ่ายเงินชดเชยกรณีภัยทางการเมืองให้ 82 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ราว 1,843 ล้านบาท ทำให้มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้จนจบ เผยบริษัทผู้รับประกันภัยยังมีข้อตกลงทำงานร่วมกัน เพื่อดำเนินคดีรัฐบาลไทยภายใต้คำร้อง TAFTA จนกว่าจะถึงที่สุด

รายงานข่าวจากบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ระบุว่า จากกรณีข่าว “คิงส์เกต บรรลุข้อตกลงระงับข้อพิพาทในกรณีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทางการเมือง ด้วยเงินชดเชยมูลค่ากว่า 82 ล้าน เหรียญออสเตรเลีย” ที่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องดังต่อไปนี้

การบรรลุข้อตกลงระงับข้อพิพาทในกรณีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทางการเมืองในครั้งนี้ ไม่ใช่กรณีเดียวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ดังนั้นกระบวนการอนุญาโตฯ ดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดิม

ทั้งนี้ค่าชดเชยที่บริษัทคิงส์เกตฯ จะได้รับจากบริษัทประกันภัยจากเหมืองแร่ทองคำชาตรีนั้น จะทำให้คิงส์เกต มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการกระบวนการอนุญาโตฯ ได้จนจบ ซึ่งบริษัทผู้รับประกันภัยยังมีข้อตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินคดีรัฐบาลไทยภายใต้คำร้อง TAFTA จนกว่าจะถึงที่สุดด้วย

บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด เป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk Insurance Policy) ในช่วงที่รัฐบาลของประเทศไทยออกคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีโดยมิชอบด้วยกฎหมายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559 (“คำร้อง TAFTA”) ซึ่งเบื้องต้นครอบคลุมเงินชดเชยรวมเป็นมูลค่ากว่า 82 ล้านเหรียญออสเตรเลีย การถือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าว ถือเป็นขั้นตอนปฏิบัติโดยปกติของการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับเหมืองแร่ทองคำชาตรี

เป็นที่ทราบกันดีว่า การสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีในเดือนธันวาคม ปี 2559 นั้น เป็นการกระทำโดยมิชอบ และปราศจากความยุติธรรม เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลใดๆ เลย ระบุว่าเหมืองฯ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบตามที่ถูกกล่าวอ้าง ในทางตรงกันข้าม บริษัท ที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบเหมืองระดับโลกอย่าง บริษัท บริษัท แบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (Bhere Dolbear International Limited) ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้เป็นผู้พิจารณาเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลอย่างละเอียด กลับมีรายงานผลการตรวจสอบพบว่าเหมืองแร่ทองคำชาตรี มีการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานสากลในทุกๆ ด้าน มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกขั้นตอน ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทียบเท่าเหมืองแร่ชั้นนำทั่วโลก ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแต่อย่างใด

คิงส์เกตได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลากร ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าประเทศไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) แล้วในเดือนพฤศจิกายน 2560 และได้ดำเนินการส่งเอกสารต่างๆ เพื่อสนับสนุนคำร้องของบริษัทฯ มาตลอดอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป บริษัทฯ ต้องขออภัยที่ไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโต ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ได้ เนื่องจากทางรัฐบาลไทยได้ขอความร่วมมือจากบริษัทฯ มิให้เผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดการอนุญาโตใดๆ ทั้งสิ้นแก่สาธารณชน อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีมติใดๆ ออกมา ก็จะมีการพิจารณาอนุญาโตฯ อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ (2562)

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทฯ มีความมั่นใจในกระบวนการอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย แต่ก็ต้องการให้เรื่องนี้จบลงอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เนื่องจากตั้งแต่เหมืองฯ ต้องหยุดดำเนินกิจการ ภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ต่างเสียโอกาสไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าภาคหลวง ภาษี การจ้างงานในพื้นที่ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ชุมชนเงียบเหงา เศรษฐกิจชะงักงัน เป็นเรื่องที่หน้าเศร้าอดีตพนักงานตกงาน ไม่มีรายได้ ในขณะที่หลายคนต้องจำใจเดินทางไปทำงานต่างถิ่น ทำให้ครอบครัวแตกแยก


ปัจจุบันแม้เหมืองแร่ทองคำชาตรีได้เข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า Care and Maintenance หรือกระบวนการบำรุงรักษา โดยไม่ได้มีการดำเนินกิจกรรมทำเหมืองแร่ใดๆ ทั้งสิ้น แต่บริษัทฯ ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ไปพร้อมกับการทำเหมืองตามกฎหมายอยู่เสมอ แม้ในขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินการฟื้นฟูอยู่บางส่วนด้วยความรับผิดชอบ นอกจากนั้น ชาวอัคราที่เหลืออยู่เพียง 25 ชีวิตในขณะนี้ จากจำนวนกว่า 1000 คน ช่วงเปิดดำเนินการ ก็ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือชุมชนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใหญ่หรือเล็ก ยังคงมุ่งมั่นในการเข้าไปร่วมช่วยเหลือเสมอ ตามปณิธานของบริษัทฯ เหมืองคือบ้านหลังใหญ่ และบริษัทฯ คือสมาชิกในบ้าน ในชุมชน เช่นกัน