Roadmap แรงงาน EEC 1 ล้านคนป้อน S-curve ใน 12 ปีข้างหน้า

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับคาดการณ์ความต้องการแรงงานทั้งในทุกระดับมากกว่า 1 ล้านคนในอีก 12 ปีข้างหน้า (2562-2573) ทำให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ศึกษาความต้องการแรงงานทั้งในระดับอาชีวะและปริญญาตรีในทุกอุตสาหกรรมกลุ่มงานทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ EEC เพื่อวางแผนพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการดังกล่าว

 

5 ปีจ้างงานใหม่ 4.7 แสนอัตรา 

ผลการศึกษาพบว่า ในระหว่างปี 2562-2566 มีความต้องการจ้างงานใหม่จำนวนประมาณ 475,668 อัตรา ประกอบด้วย กลุ่มงานด้านดิจิทัลมีความต้องการสัดส่วนสูงที่สุดถึง 24% จำนวน 116,222 อัตรา ด้านโลจิสติกส์ 23% จำนวน 109,910 อัตรา ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 12% จำนวน 58,228 อัตรา ด้านยานยนต์แห่งอนาคต 11% จำนวน 53,738 อัตรา ด้านหุ่นยนต์ 8% จำนวน 37,526 อัตรา ด้านการบิน-อากาศยาน 7% จำนวน 32,836 อัตรา การขนส่งระบบราง 5% จำนวน 24,246 อัตรา การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4% จำนวน 16,920 อัตรา การพาณิชย์นาวี 3% จำนวน 14,630 อัตรา และการแพทย์ครบวงจร 2% จำนวน 11,412 อัตรา

สอดคล้องกับการประมาณการของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC ในระหว่างปี 2560-2564 จะมีความต้องการแรงงานระดับอาชีวะเพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve จำนวน 485,328 คน โดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพมีความต้องการแรงงานสูงสุดถึง 35,023 คน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 34,311 คน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 33,820 คน

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 20,553 คน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 15,860 คน อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 11,331 คน อุตสาหกรรมดิจิทัล 10,768 คน อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 8,018 คน อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี 6,806 คน และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 35 คน

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ได้สำรวจความต้องการแรงงานจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 มีความต้องการแรงงาน 95,489 คน แบ่งเป็นไตรมาส 1/2561 มีความต้องการแรงงานรวม 18,438 คน ไตรมาส 2/2561 ความต้องการแรงงานรวม 18,108 คน ไตรมาส 3/2561 ความต้องการแรงงานรวม 29,510 คน และ ไตรมาส 4/2561 ความต้องการแรงงานรวม 29,433 คน

EEC-HDC สถาบันการศึกษา 

จากข้อมูลความต้องการแรงงานข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรครั้งใหญ่ด้วยการตั้ง คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ EEC ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย 11 แห่ง, วิทยาลัยอาชีวศึกษา 43 แห่ง, โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 205 แห่ง, โรงงานอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ 335 แห่ง

พร้อมกับให้ อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเป็นอีก 1 อุตสาหกรรม S-curve และดึงมหาวิทยาลัยระดับโลกเข้ามาร่วม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐ ที่จะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดทำหลักสูตรด้านสารสนเทศและวิทยาการคอมพิวเตอร์

สถาบันเลส์โรชส์ สวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกับทางกลุ่มไมเนอร์ บริษัท เจ้าพระยา รีสอร์ท แอนด์ เรสซิเด้นท์ จำกัด ยื่นคำขอจัดการศึกษาภายใต้ชื่อ Asian Institute of Hospitality Management, In Academic Association with Les Roches หลักสูตรด้านการจัดการโรงแรมและมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ร่วมกับกลุ่มอมตะ โดยมหาวิทยาลัยอมตะได้สิทธิ์ในการจัดการศึกษาในหลักสูตรด้านวิศวกรรม Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) เน้นทางด้านการใช้หุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติและยานยนต์แห่งอนาคต

นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมพัฒนาอาจารย์ให้มีความรู้ในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ร่วมกับประเทศจีน ตั้งศูนย์ผลิตบุคลากรในระบบราง, มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งศูนย์ผลิตบุคลากรระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศรีราชา ร่วมกับประเทศเยอรมนี และวิทยาลัยไออาร์พีซี (IRPC) ตั้งศูนย์ผลิตบุคลากรด้านปิโตรเคมีและเชื้อเพลิงชีวภาพ

จากแผนทั้งหมดจะสามารถสร้างบุคลากรขึ้นมาได้ปีละเกือบ 100,000 คน ซึ่งเพียงพอกับจำนวนแรงงานในตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่ประเมินไว้ 1 ล้านคนในอีก 12 ปีข้างหน้า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!