ปรับแผนเขตเศรษฐกิจชายแดน กนอ.โดดทำนิคม 4 จังหวัด

“สมคิด” เร่งเครื่องการนิคมฯ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) หลังเฟสแรก “ยกเว้น” สระแก้ว ยังติดปัญหาอุปสรรคเพียบ เอกสารสิทธิซ้ำซ้อน ทำไปแล้วไม่ตรงกับความต้องการของนักลงทุน สุดท้าย กนอ.ต้องพัฒนาเองใน 4 จังหวัด นครพนม-มุกดาหาร-นราธิวาส-กาญจนบุรี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ว่า ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการปรับปรุง หลังประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2560 ยกตัวอย่าง การจัดการที่ราชพัสดุที่ได้มาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 74/2559 ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี และนครพนม เพื่อให้เอกชน หรือ กนอ.เช่าที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว รวมทั้งการรับเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ลงทุนและการเร่งรัดการลงทุนด้วย

“ผมได้สั่งการให้ กนอ.ไปดูว่า จะจัดพื้นที่อย่างไรให้น่าสนใจเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ อาทิ การพัฒนาพื้นที่ ขณะที่มาตรการสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้า มาลงทุนในพื้นที่ ยังเพียงพอสามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้านได้” นายสมคิดกล่าว

ปรับแผนเขต SEZ

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) 10 จังหวัด แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกดำเนินการพัฒนาระหว่างปี 2559-2560 ใน 6 พื้นที่ คือ สระแก้ว, ตาก, สงขลา, ตราด, มุกดาหาร และหนองคาย มีพื้นที่ที่ กนอ.จะเข้าไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม 3 จังหวัด คือ สระแก้ว, ตาก และสงขลา

“การดำเนินการสร้างนิคมใน 3 จังหวัดยังคงเดินหน้าต่อไป แต่ยอมรับว่ามีอุปสรรคหลายอย่างที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการบอร์ด กนอ. ครั้งต่อไปในกลางเดือนกันยายนนี้ ทาง กนอ.จะเสนอการปรับแผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยให้บอร์ดพิจารณาต่ออายุการทำโปรโมชั่นค่าเช่าที่ดินในอัตราพิเศษสำหรับใน นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 29 กันยายนนี้ ในกรณีเช่าที่ดินตั้งแต่ 20ไร่ขึ้นไป ส่วนการเช่าที่ดินต่ำกว่า 20 ไร่ ก็จะหมดอายุในวันที่ 29 ธันวาคมนี้เช่นกัน”

นอกจากนี้ กนอ.ยังเตรียมแผน Road Show ในต่างประเทศด้วย โดยจะจัดคณะไปญี่ปุ่น-มาเลเซีย-ไต้หวัน และจีน ส่วนนิคมในพื้นที่ SEZ ต่าง ๆ ก็มีการปรับแผน อาทิ แผนรับมือกรณีไฟฟ้าไม่พอใช้ในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจต้องซื้อไฟสำรองจากมาเลเซีย, แผนปรับรูปแบบนิคมให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ยกตัวอย่าง อาคารเช่าสำเร็จรูปสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จากเดิมขนาดไม่สอดรับกับธุรกิจ, การแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนของกรมธนารักษ์ ทำให้บางพื้นที่เดินหน้าไม่ได้ ส่งผลให้นักลงทุนยังไม่ตัดสินใจ และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับด่านชายแดนต่าง ๆ

กนอ.ทำเพิ่ม 4 จังหวัด

ส่วน นิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในขณะนี้ น่าจะอยู่ที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว (อรัญประเทศ/วัฒนานคร) โดยนายวีรพงศ์กล่าวว่า สระแก้วเป็นนิคมอุตสาหกรรมแรกในเขต SEZ มีการดำเนินการแบบ “ค่อย ๆ ไปได้” โดย กนอ.ทราบดีว่า การทำโปรโมชั่นเป็นการตลาดที่ทำแล้วนักลงทุนสนใจ ส่วนสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นั้นเป็นมาตรการหลักที่จะดึงดูด
การลงทุนใน 13 กลุ่มกิจการเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร/ประมง, เซรามิก, สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม/เครื่องหนัง, เครื่องเรือน, อัญมณีเครื่องประดับ, เครื่องมือแพทย์, ยานยนต์/ชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์, พลาสติก, ยา, โลจิสติกส์, เขต/นิคมอุตสาหกรรม และกิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว

“การที่นักลงทุนจะไปหรือไม่ไปในเขต SEZ อยู่ที่การเปรียบเทียบระหว่างจะตั้งโรงงานฝั่งไทย หรือฝั่งเพื่อนบ้านดี เพราะแต่ละอุตสาหกรรม แต่ละบริษัทมีเป้าหมาย มีต้นทุน มีตลาดต่างกัน ดังนั้น หน้าที่ของ กนอ.ก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้ ซึ่งรัฐบาลให้งบฯมา 700 ล้านบาท ลอตแรกได้มา 140 ล้านบาท เพื่อพัฒนานิคมที่สระแก้ว ตอนนี้ใช้ไปประมาณ 100 ล้านบาทแล้ว ตามแผนนิคมสระแก้วเฟสแรกจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562 พร้อม ๆ กับการเปิดด่านชายแดนที่ป่าไร่” นายวีรพงศ์กล่าว

และล่าสุด รัฐบาลได้สั่งให้ กนอ.เข้าไปพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 4 แห่ง ที่จังหวัดมุกดาหาร, นราธิวาส, กาญจนบุรี, นครพนม โดยที่มุกดาหาร กรมธนารักษ์ได้เปิดประมูลหาผู้ลงทุนพัฒนาพื้นที่ “แต่ไม่มีเอกชนยื่นเข้ามาแม้แต่รายเดียว เราจึงต้องเข้าไปรับหน้าที่นี้” ส่วนที่นราธิวาส เป็นพื้นที่เอกชนท้องถิ่นอยากตั้งโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคม จึงขอให้เราเข้าไปซื้อที่เพื่อสร้างนิคม ส่วนกาญจนบุรี รัฐกำลังหาพื้นที่อยู่ และที่นครพนมยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจเช่นกัน

โดยแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ระยะ 2 (ปี 2561-2562) ที่จังหวัดกาญจนบุรี, นราธิวาส, เชียงราย และนครพนม จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ ทั้งในรูปแบบเป็นนิคมอุตสาหกรรม หรือพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวก็ได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแต่ละพื้นที่ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง เช่น กาญจนบุรี ต้องเชื่อมต่อกับทวาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่เกิด ส่วนที่เชียงรายยังมีปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนกันอยู่ นครพนม ติดเอกสารสิทธิการถือครองที่ดิน ไม่มีเอกชนสนใจ และนราธิวาส มีปัญหาความสงบของชายแดนใต้