“สมคิด”ตั้งทีมดึงนักลงทุน แก้เกมเทรดวอร์ทุบส่งออกโต3%

พิษสงครามการค้าบีบ “พาณิชย์” ยอมลดเป้าส่งออกเหลือ 3% ชี้ 8 เดือนที่เหลือต้องทำให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน “สมคิด” สั่ง BOI ตั้งทีมดึงจีน-ญี่ปุ่นที่ย้ายฐานลงทุน ตั้งโจทย์ใหญ่ทำอย่างไรให้เลือกประเทศไทย ด้านทูตพาณิชย์ตลาดส่งออกหลักทั้ง “สหรัฐ-จีน-ยุโรป” พร้อมใจปรับเป้า เร่งทำแผนเจาะตลาดเมืองหลักเมืองรองใหม่ 

สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่จะต้อง “รับมือ” กับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ โดยการประชุมสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ได้มีรายงานผลการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2562) “หดตัว” ลง 1.9% และกลายเป็น “การบ้านใหญ่” ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกตลอดทั้งปีให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% ให้ได้

ตั้งทีมดึงการลงทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 58 แห่งทั่วโลกว่า ขอให้ทุกสำนักงานเร่งผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่เพื่อให้การส่งออกปี 2562 ขยายตัวให้ได้ 3% จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายขยายตัว 8% โดยจะต้องเชื่อมโยงการทำงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการผลักดันการท่องเที่ยวและดึงการลงทุนคู่ขนาน ทูตพาณิชย์ต้องจัดทำแผนเจาะตลาดรายภูมิภาครวมถึง “เมืองรอง” โดยเฉพาะตลาดนเดีย-จีน-ฮ่องกง-ไต้หวัน-ญี่ปุ่น-ตลาดอาเซียนและมอบให้ BOI ตั้ง “ทีมดึงการลงทุน” ขึ้นมาเน้นนักลงทุนจีน-ญี่ปุ่น เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้กำลังหาแหล่งลงทุนใหม่หลังจากเกิดปัญหาสงครามการค้า ซึ่งหากไม่มาที่ประเทศไทยก็อาจจะย้ายฐานไปยังเวียดนาม ดังนั้น ไทยควรใช้ “วิกฤตให้เป็นโอกาส” โดยเฉพาะตลาดสหรัฐจะกลายเป็นโอกาสสำคัญรวมถึงตลาดใหญ่อย่างอินเดียด้วย

“แม้ว่าภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 จะหดตัว แต่ก็เป็นทุกประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไรให้ครึ่งปีหลังการส่งออกมีการเติบโต โดยเป้าหมายการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าลดลงมาที่ 3% ทูตพาณิชย์ต้องผลักดันและต้องทำงานอย่างเต็มที่” นายสมคิดกล่าว

ส่งออก 22,000 ล.เหรียญ โต 3%

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หากจะผลักดันการส่งออกให้ขยายได้ตามเป้า 3% มูลค่า 260,184 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 8 เดือนนับจากนี้ไปประเทศไทยจะต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านเหรียญ ซึ่งจากประชุมวันนี้ภาพรวมทุกตลาดยังขยายตัว โดยตลาดที่น่าจะเป็นโอกาสมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย, สหรัฐ, ญี่ปุ่น, CLMV ที่จะต้องขยายตลาดและเพิ่มช่องทางการส่งออกให้มากขึ้น “การประเมินเป้าหมายการส่งออกในระดับนี้คาดการณ์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทตั้งสมมุติฐานไว้ 31-32 เหรียญสหรัฐ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบเชื่อว่า ไม่มีผลมากนัก และสินค้าที่ไทยยังไปได้ดียังคงเป็นอาหาร-เกษตรและเกษตรแปรรูป”

สหรัฐ-ยุโรป-จีนยังขยายตัวได้

ด้านนางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ลอสแองเจลิส กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกกลุ่มสหรัฐจะขยายตัวอยู่ที่ 4% ลดลงจากเดิม 6.1% จากปัญหาสงครามการค้าแต่ก็เป็นโอกาสที่ไทยควรจะฉกฉวยในการทำตลาดส่งออกสินค้าไปในตลาดนี้ให้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป-สิ่งทอ-เกษตร-อาหารสัตว์ โดยสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ของคู่แข่งของไทยของลดลงนั้นจะเป็นโอกาสในการแข่งขันของสินค้าไทยได้มากขึ้น

“ผู้นำเข้าสหรัฐที่เป็น SMEs ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้นำเข้าทั้งประเทศ ปกติจะนำเข้าสินค้าจากแคนาดา-เม็กซิโก-จีน ตรงส่วนนี้ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสเข้าไปทดแทนได้ นอกจากนี้ สหรัฐมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ดังนั้น ไทยควรเข้าไปลงทุนในประเทศดังกล่าวเพื่อที่จะใช้สิทธิในการส่งออก โดยภาพรวมแล้วตลาดสหรัฐยังเป็นตลาดที่สามารถขยายตลาดส่งออกได้มาก ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 13.6%”

นายสกรรจ์ แสนโสภา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ หนานหนิง จีน มองโอกาสในการทำการค้า-ส่งออกไว้ 2 รูปแบบ คือ การเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจ One Belt One Road (OBOR) ซึ่งจะเป็นโอกาสการส่งออกและการลงทุนของไทยกับการดึงจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และผลจากสงครามการค้าทำให้การนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการลดลงและจีนหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นมากขึ้น “ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะขยายตลาดสินค้าเกษตรไปจีนรวมไปถึงอาหาร-อาหารแปรรูป-อัญมณี-เครื่องสำอาง ในตลาดเมืองหลัก-เมืองรอง สนง.มีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกใน 9 มณฑล คือ ซีอาน-อู่ฮั่น-ฉงชิ่ง-คุนหมิง/สิบสองปันนา-หนานหนิง-มาเก๊า-เซียเหมิน-หางโจว-หนานจิง-หนิงโป สำหรับเป้าหมายการส่งออกในตลาดจีนทั้งปีตั้งเป้า 1-3% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 12%”

นางสาวสุภาวดี แย้มกมล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวถึงเป้าหมายการส่งออกในตลาดยุโรป รวมรัสเซียและ CIS เฉลี่ยอยู่ในกรอบ 0-1% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 3% เฉพาะรัสเซีย-CIS ขยายตัว 10% จากการประเมินตลาดยุโรปยังมีปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการถอนตัวการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของอังกฤษ

“ไทยต้องเร่งเจรจา FTA หรือใช้สิทธิพิเศษจากเพื่อนบ้านเพื่อขยายตลาดออกไปให้มากขึ้น โดยสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังมีโอกาสสำหรับสินค้าไทย รวมทั้งอาหาร สิ่งทอ”

จีนย้ายฐานหนีสงครามการค้า

ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า สงครามการค้าทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นโดยเฉพาะ “จีน” ในประเภทกิจการอะลูมิเนียม-เครื่องใช้ไฟฟ้า-ตู้เย็น ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้ นอกจากนี้ จีนยังเข้ามาขอการลงทุนในโครงการอาหาร-อาหารแปรรูป เพื่อใช้วัตถุดิบไทยเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐมีมูลค่าของการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และยังมีกลุ่มนักลงทุนจากยุโรปก็เข้ามาลงทุน แต่ยังมีสินค้าบางรายการที่ยังติดเรื่องของมาตรฐานสินค้าของไทยทำให้ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ อาทิ เมล็ดพันธุ์, ฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา นอกจากนี้ยังมีการลงทุนด้าน “บริการดิจิทัล” ที่กฎหมายไทยยังไม่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน “BOI ส่งเสริมการลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องจักร เครื่องมือแพทย์ และชิ้นส่วนอากาศยาน ส่วนกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อาจจะต้องปรับหันมาผลิตให้กับกลุ่มชิ้นส่วนอากาศยานให้มากขึ้นเนื่องจากตลาดผลิตรถยต์เปลี่ยนเป็นรถ EV” น.ส.ดวงใจกล่าว

ส.อ.ท.ชี้ส่งออกโตได้แค่ 0-1%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีนว่า ส.อ.ท.ยังคงคาดการณ์ว่าส่งออกของไทยปี 2562 จะเหลือเพียง 0-1% เท่านั้น จากที่เคยตั้งเป้าไว้ 3-5% ซึ่งไม่สามารถขยับโตได้มากกว่านี้ เนื่องจากสงครามการค้าครั้งนี้คือของจริงไม่ใช่การขู่ ฉุดเศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลกลงอย่างรุนแรง และหากสหรัฐตอบโต้กันไปมาอีกโดยการขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมด ยิ่งฉุดให้ส่งออกต่ำกว่า 0% แน่นอน การตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ (war room) ขึ้นมาจึงสำคัญ เพราะจะช่วยให้แต่ละรายอุตสาหกรรมเตรียมตัวรับมือผลกระทบที่จะตามมาได้ทัน

ไทยลุ้นปรับโควตาข้าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่สหรัฐได้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาจัดสรรโควตานำเข้าข้าวจากทั่วโลกของจีนเมื่อปี 2560 นั้น ล่าสุด WTO มีคำตัดสินให้จีนเป็นฝ่ายแพ้ และต้องปรับปรุงการจัดสรรโควตานำเข้าข้าวอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันการส่งออกสินค้าข้าวไทยไปยังตลาดจีนมากขึ้น