ณัฐพล จุฬางกูร เจน 2 อาณาจักรแสนล้าน ‘ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น’

ณัฐพล จุฬางกูร

โลว์โปรไฟล์ 3 ปีเต็ม “ณัฐพล จุฬางกูร” ได้รับโปรโมตจากบอร์ดครอบครัวให้รับผิดชอบเก้าอี้ “ประธานบริหาร” ในโครงสร้าง nonautomotive

แน่นอนว่ารายได้หลักเกิน 80% มาจากธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ในฐานะทายาทธุรกิจเจเนอเรชั่นที่ 2 “ณัฐพล” ระบุว่า ทุกวันนี้ยกเว้นกระจกกับเครื่องยนต์ ที่เหลือ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ป้อนชิ้นส่วนให้กับการผลิตรถยนต์ทั้งคัน

ปี 2561 จบที่รายได้ 50,000 ล้านบาท ปีนี้เป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวดอกผลที่ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% ที่ 60,000 ล้านบาท

“รุ่นคุณพ่อ (สรรเสริญ จุฬางกูร) ลงทุนแต่ในประเทศ รุ่นผมซึ่งเราได้พูดคุยกันในวงพี่น้อง 6 คน แต่ละคนรับผิดชอบแต่ละโรงงาน มีปัจจัยกดดันเยอะ ทั้งเศรษฐกิจในประเทศ ส่งออก เทคโนโลยีใหม่ ๆ โอกาสอยู่รอดต้องไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น”

แพลนธุรกิจที่น่าสนใจ การลงทุนโรงงานแต่ละครั้ง ถ้าได้ 1 สัญญาจะกินยาว 3-5 ปี ไม่ใช่เงินก้อนเล็ก ๆ แต่เป็นมูลค่ามหาศาล ตลาดเมืองไทยป้อนงานให้กับเจ้าของแบรนด์รถยนต์ 10 กว่ายี่ห้อ

ต่างประเทศที่เริ่มต้นไปลงทุนเมื่อ 4 ปีก่อน จากก้อนเล็ก ๆ ระดับ 100-1,000 ล้านเพื่อทดสอบทางธุรกิจ จนกระทั่งชื่อติดตลาดทำให้คว้าสัญญาใหญ่ ๆ ทำให้ฐานผลิตวันนี้กระจายครอบคลุมในจีน 3 แห่ง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม

“จีนกับอินเดียมีประชากรพันกว่าล้านคน ไม่จำเป็นต้องลงทุนให้ครบทุกมณฑล อย่างในจีนเราไปแค่ 3 มณฑลก็อยู่ได้แล้ว”

ด้วยความที่เป็นยักษ์ธุรกิจ อาจถูกมองภาพว่าเป็นกลุ่มที่ใช้เงินลงทุนแบบมือเติบ แต่ในข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“ผมทำทุกอย่าง ใช้เงินต้องคอนเซอร์เวทีฟหมดนะ เราผ่านประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540, 2550 สมัยเด็กคุณพ่อคุณแม่นั่งประชุม เราเป็นเด็กก็วิ่งเล่นในโรงงาน เคยเห็นคนงานเต็มโรง ทำงานโอทีทั้งวันทั้งคืน พอวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาตัดหมด 1 สัปดาห์ผลิตแค่ 3 วัน ทุกอย่างเกิดขึ้นบนความไม่แน่นอน”

สำหรับกลยุทธ์ทำธุรกิจชิ้นส่วนคือ “…เราจับปลาตัวใหญ่ และเราก็มองแต่ปลาตัวใหญ่ด้วย” ยกตัวอย่างเช่น โตโยต้าให้งาน 1 ครั้ง มูลค่างานสามารถตั้งโรงงานรองรับได้ 3-4 โรงงาน บิ๊กวอลุ่มขนาดนั้น

ในวงการผู้ผลิตรถยนต์ เขาวางสนุ้กผู้ผลิตชิ้นส่วนเยอะแยะไปหมด เช่น ต้องมีโรงงานตั้งอยู่ใกล้ ๆ ในรัศมี 50 กม., ผู้ผลิตจะมีจำนวนกี่รายก็แล้วแต่ คุณจะต้องเบียดตัวเองให้เข้าไปอยู่ในท็อป 5 จึงจะมีสิทธิแข่งประมูลงานได้ ฯลฯ

Ease of doing business ในวงการรถยนต์จึงไม่ง่าย การแข่งขันสูง บีบให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา การเติบโตไม่สามารถโตเดี่ยว แต่มีการ JV-joint venture ไปกับเจ้าของเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลี

“ซัมมิท คอร์ปอเรชั่นเรามีการลงทุนหลายพันล้านบาทในศูนย์วิจัยและพัฒนา อยู่บางนา-ตราด กม.23 ทำมาได้ 7-8 ปีแล้ว”

ภัยคุกคามธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์วันนี้ เทรดวอร์สหรัฐกับจีนถือว่ายังน้อย เทรนด์ที่มาแรงกว่าคือรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็อีกนั่นแหละ เพราะประเมินว่าถึงยังไงพฤติกรรมผู้บริโภค กำลังซื้อ ตลาด ยังต้องใช้เวลาบ่มอีก 5-10 ปี

“เทรนด์มาทางรถยนต์ไฟฟ้า แต่กว่าจะเป็นที่ยอมรับน่าจะใช้เวลา 1-10 ปี ระหว่างนี้เราเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ การปรับตัวก็ต้องแยก 2 ส่วนคือ พาร์ตที่เราลงทุนกับพาร์ตที่เรามีไลเซนส์การผลิต”

กล่าวคือ “…ถ้าผลิตตามแบบคนอื่นก็จะโดนบี้แต่เรื่องราคา แต่ถ้าเรามีไลเซนส์เป็นของตัวเอง ใครก็บี้เราไม่ได้ ทีมมันสมองมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งดีลเจวีกับ 3 ชาติ เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา เราต้องซื้อคน 3 คนนี้มาอยู่กับเราเลย มาพัฒนาร่วมกัน”

กลับมาที่ตัวเลขรายได้ปีนี้วางเป้า 60,000 ล้านบาท บวกกับการยกระดับเครือข่ายสู่ตลาดโกลบอลมากขึ้น รายได้ปีละแสนล้านดูเหมือนไม่ต้องรอนาน

“แผนธุรกิจของกลุ่ม ปีེ-65 และปีྀ จะโตพอสมควร เพราะเราไปลงทุนล่วงหน้า 4 ปี ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปเป็นช่วงเริ่มรับรู้รายได้เข้ามา”

วกกลับมาธุรกิจ nonautomotive กันบ้าง ตระกูลจุฬางกูรวันนี้ถือครองที่ดิน 5,000 ไร่ มาจากงานอดิเรกของคุณแม่ “ซ้อหทัยรัตน์ จุฬางกูร” ซื้อเข้าพอร์ตอย่างเดียว ใครเห็นแล้วอยากได้แปลงไหน “ซื้อเก็บอย่างดียว ให้ราคาดียังไงก็ไม่ขาย”

โดยแลนด์แบงก์มีครบทุกทำเล ถ้าไม่นับเกาะกูด จังหวัดตราด, จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินผืนใหญ่ 2,000 ไร่อยู่ที่จังหวัดเลย กับทำเลริมหาดทั่วไทยดีกรีไพร์มแอเรียก็แล้วกัน

ธุรกิจการเงิน ทุกวันนี้เป็นเจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนหลักยังเน้นรายได้ประจำ recurring income หรือรายได้ค่าเช่า ปัจจุบันมีสนามกอล์ฟวินด์มิลล์ บางนา กม.10.5 สนามกอล์ฟกรีน วาลเลย์ เชียงใหม่ ขนาด 18 หลุม

“ธุรกิจชิ้นส่วนขึ้นกับคู่สัญญารายใหญ่ ฮอนด้า โตโยต้า มิตซูฯ ฯลฯ ทำยังไงให้สนิทแนบแน่นกันมากขึ้น ประชุมบนโต๊ะไม่สำเร็จหรอก แต่ประชุมที่สนามกอล์ฟสำเร็จทุกเรื่อง…” คำบอกเล่าเคล็ดลับการสร้างคอนเน็กชั่นกับคู่ค้า

สนามกอล์ฟวินด์มิลล์ลงทุน 5-8 ปีจนติดตลาดไปแล้ว ในส่วนของโรงแรมเลอ เมอริเดียน และเรสซิเดนซ์ กอล์ฟรีสอร์ต มีแพลนสร้างฮอลประชุมรองรับความจุครั้งละ 800-1,000 คน สำหรับจัดประชุมสัมมนา งานแต่งงาน ฯลฯ มีจุดขายบริการโรงแรมเป็นออปชั่นเสริม

“ทุกอสังหาฯที่ลงทุน ความฝันต้องทำให้ติดท็อป 5 เช่น ไปต่างจังหวัดก็ต้องติด 1 ใน 5 ของจังหวัด ทำสนามกอล์ฟก็ต้องติด 1 ใน 5 ของประเทศ”

ยังมีออฟฟิศบิลดิ้งหรือสำนักงานให้เช่าแอมเพิล ทาวเวอร์ ย่านบางนา กม.4, พาร์ควิลล์ อพาร์ตเมนต์

กับธุรกิจบูมเงียบคือวินด์มิลล์ ฟุตบอล คลับ สนามฟุตบอลมาตรฐาน เจาะลูกค้าเช่าเป็นสนามซ้อม ทีมฟุตบอลต่างชาติจองคิวแน่นทั้งญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ตุรกี แต่ละครั้งพักยาว 1 เดือน มาเป็นกรุ๊ปมีนักฟุตบอลและผู้ติดตามครั้งละ 60-70 คน

เพชรเม็ดงามของปี 2562 การลงทุนอยู่ที่ 2 แปลงหลัก “โรงเรียนนานาชาติเบิร์กลีย์” ปักหมุดบางนา กม.1 รั้วชนกับห้างแบงค็อก มอลล์ ของตระกูลอัมพุช แห่งเดอะมอลล์กรุ๊ป

ปัจจุบันเบิร์กลีย์รับนักเรียนนานาชาติ 600 คน ระดับอนุบาลถึงมัธยม 6 เฉลี่ยค่าเทอม 4.5 แสนบาท ปีละ 3 เทอม กำลังลงทุนขยายเฟส 2 และ 3 เพื่อให้ฟาซิลิตี้ส่วนกลางฟูลออปชั่น ขยายเป้ารับนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 900 คน

อีกโครงการ “JRK Tower” โครงการมิกซ์ยูส 46 ชั้น วางแผนลงทุนปีนี้คาดว่าเปิดบริการในอีก 3 ปีหน้า โดยต้องการค่าเช่าสำนักงาน 1,500 บาท/ตารางเมตร/เดือน ที่เหลือเป็นโรงแรม 5-6 ดาว รีเทล

ทำเลสวยจัด ที่ดิน 6 ไร่แปลงหัวมุมถนนเพชรบุรีตัดพญาไท ระยะห่าง 0 ก้าวจากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีราชเทวี

ชื่อแบรนด์ JRK ย่อมาจาก “จุฬางกูร” อย่างไม่ต้องสงสัย ถ้ารวมที่ดินด้วยมูลค่าโครงการน่าจะตก 7,000 ล้านบาท

สำหรับอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย บอร์ดครอบครัวมีความสนใจเข้าไปทำเช่นเดียวกัน

แต่ยังไม่ใช่ปีหน้า-ปีหน้าที่จะลงทุน