ซีพีเอฟ ติวครบ 20 จังหวัดอีสานรับมืออหิวาต์หมู “ASF”

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรอีสานจับมือซีพีเอฟ ติวเกษตรรายย่อย ป้องกันโรค ASF ครบทั้ง 20 จังหวัด ยกระดับความเชื่อมั่นผู้เลี้ยงสุกรอีสาน ผลิตเนื้อหมูปลอดภัย เดินหน้าร่วมมือกับภาครัฐเฝ้าระวังป้องกัน ASF เข้าประเทศ

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ตระหนักดีถึงความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการป้องกันโรค ASF ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรในภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่หลายจังหวัดติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีจำนวนเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมูไม่เกิน 50 ตัวอยู่นับแสนราย จึงได้ผนึกกำลังกับภาคเอกชน และปศุสัตว์จังหวัด เร่งจัดอบรมให้ความรู้การป้องกันโรคแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจนครบ 20 จังหวัดในภาคอีสานแล้ว นับเป็นภูมิภาคแรกที่บูรณาการทุกภาคส่วนได้ให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยร่วม 5,000 รายได้เข้าใจและช่วยยกระดับฟาร์มในการป้องโรค ASF อย่างเคร่งครัดขึ้น ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนภาครัฐดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง

สมาคมฯ ตระหนักดีว่า แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานพบโรค ASF ในประเทศไทย แต่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรรายย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยเลี้ยงหมูหลังบ้านไว้เป็นอาชีพเสริมจากการทำนา การปฏิบัติการตามหลักป้องกันโรคไม่ครบถ้วน และมักใช้เศษอาหารเลี้ยงหมู ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการระบาดของโรคได้ ประกอบกับ พื้นที่ 9 ใน 20 จังหวัดในภาคอีสานมีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น เกษตรกรรายย่อยจึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของการป้องกันโรค ASF ระบาดข้ามประเทศ ที่สำคัญช่วยหยุดยั้งข่าวลือจากผู้ที่ไม่หวังดีได้เป็นอย่างดี

“ความสำเร็จในการเดินสายจัดอบรมเกษตรกรรายย่อยจนครบ 20 จังหวัดในภาคอีสานเกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันของภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้ง บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) เบทาโกร ไทยฟู้ดส์ บริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำ และที่สำคัญ สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ด่านกักกันสัตว์ในทุกพื้นที่ เพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเข้าใจและปรับปรุงการป้องกันโรคในฟาร์ม รวมทั้งเป็นเครือข่ายช่วยกันเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มแข็ง” นายสิทธิพันธ์กล่าว

นายสิทธิพันธ์กล่าวต่อว่า การจัดอบรมเกษตรกรรายย่อย ยังเป็นโอกาสที่ดีช่วยให้สมาคมฯ และปศุสัตว์จังหวัดมีข้อมูลของเกษตรกรรายย่อยชัดเจน สามารถเข้าถึงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนเข้าไปส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยสามารถยกระดับการเลี้ยงหมูฟาร์มขนาดเล็ก เข้าสู่มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ และพัฒนาให้เป็นต้นทางการผลิตอาหารปลอดภัยของชุมชนในระยะยาว

สมาคมฯ ยังบูรณาการทำงานร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด และภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเฝ้าระวัง และการซ้อมแผนปฏิบัติการ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจของกรมปศุสัตว์ที่มาปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่ชายแดนและด่านประเพณีอย่างเข้มข้น ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้สนับสนุนงบประมาณแก่สปป.ลาว ในการจัดจ้างพนักงานปฏิบัติหน้าที่ที่ด่านชายแดนลาว-เวียดนาม และค่าน้ำมันใส่เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ เพื่อช่วยประเทศเพื่อนบ้านสกัดโรคเข้าประเทศอีกทางหนึ่งอีกด้วย