“สุริยะ”นำคณะจับมือ METI คอนเน็กต์อุตสาหกรรม4.0

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

“สุริยะ” นำทีม กสอ.เยือนญี่ปุ่นครั้งแรก หลังนายกฯอาเบะคว้าชัยเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่ จ่อพบ รมว. METI สานต่อ “Connected Industries” เร่งเครื่อง 7 ภารกิจ พร้อมผู้ว่าฯจังหวัดโทยามะ SMRJ NEDO เซ็น MOU กับ JTECS ดูดนักลงทุน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 24-28 ก.ย. 2562 กระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เตรียมเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว โดยจะเข้าพบและหารือกับนายฮิโรชิเกะเซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) เพื่อสานต่อนโยบาย Connected Industries ที่ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่นไปสู่ 4.0 และเชื่อมไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม และ METI ได้เคยลงนามความร่วมมือ (MOU) กันไว้ตั้งแต่ปี 2560 ส่วนการเดินทางครั้งนี้จะมีการลงนาม MOU ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTECS) เพื่อการส่งเสริมเทคโนโลยีร่วมกัน

“การพบกันที่จะถึงนี้จะหารือถึงความคืบหน้า นโยบายที่จะสานต่อ หลังจากที่ญี่ปุ่นมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ เชื่อว่าต่อให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม นโยบายและความร่วมมือที่เคยได้ทำกันไว้จะยังคงเดิม เพราะเป็นนโยบายหลักใหญ่ของประเทศ”

และยังมีกำหนดหารือความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม กับทางสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren Japan Business Federation) ซึ่งเคย MOU กันไว้เมื่อ 2560 เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ มีกำหนดจะร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดโทยามะ เพื่อหารือถึงนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลใหม่ แนวทางความร่วมมือด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการหารือแนวทางความร่วมมือพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและ SMEs ไทย-ญี่ปุ่น กับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) ให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ คณะมีกำหนดจะเยี่ยมชม MI-Garden GINZA ซึ่งเป็นศูนย์แสดงเทคโนโลยี บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จำกัด

“เป้าหมายสำคัญคือการประชุมหารือแนวทางส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งทางคณะและตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ ประจำกรุงโตเกียว) จะพบกับนายทาเคชิ อูจิยามาดะ ประธาน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส จำกัด, องค์การพลังงานใหม่และการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) และผู้บริหารบริษัท พานาโซนิค จำกัด ที่น่าจับตามากที่สุด เนื่องจากพานาโซนิคผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาย้ายฐานออกจากจีน ซึ่งมีโอกาสที่การหารือครั้งนี้จะรวมไปถึงการนำแพ็กเกจ Thailand Plus ชักจูงมาลงทุนที่ไทยด้วยเช่นกัน”

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามความร่วมมือ MOU Thai-Japanese Connected Industry 4.0 กับ METI ซึ่งนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่น 600 รายมาเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLVMV ครอบคลุมความร่วมมือกันด้านการศึกษา การพัฒนาบุคลากร การลงทุน การพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากนั้นทั้ง 2 พบกัน

อีกครั้งเมื่อเดือน ก.ค. 2561 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะพัฒนาร่วมกัน คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ชีวภาพ อุปกรณ์การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน ดิจิทัล และหุ่นยนต์ สำหรับการลงนาม MOU ทั้ง 7 ฉบับก่อนหน้านี้ ได้แก่

1.ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ industry 4.0 โดยอาศัยองค์ความรู้ของญี่ปุ่นผ่าน “Flex Campus” ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสภาอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

2.ความร่วมมือยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับองค์การสนับสนุน SMEs แห่งญี่ปุ่น (SMRJ)

3.ความร่วมมือด้านการค้า ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)

4.ความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่างสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)

5.ความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สกพอ. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ กับบริษัท ฮิตาชิ

6.ความร่วมมือขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมระหว่างสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI)

7.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับบริษัท JC Service Co.,Ltd.