“สมคิด”โชว์วิชั่นนักลงทุนญี่ปุ่น เร่งโครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการ มั่นใจ 4 แฟกเตอร์ไทยได้ปรับอันดับโลกขึ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ “Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries”ว่า ปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยในช่วงครึ่งปีแรกญี่ปุ่นมีเงินลงทุนโดยตรงไปแล้วกว่า 4.73 หมื่นล้านบาท มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็นอีก 55% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การผลิต Hybrid Vehicle มูลค่า 19,547 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ มูลค่า 15,182 ล้านบาท กิจการผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์ มูลค่า 3,083 ล้านบาท ฯลฯ นอกจากนี้จำนวนสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยยังมีจำนวนถึง 1,748 บริษัท

นายสมคิด กล่าวต่อว่า สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศยังต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกมาก และหลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของไทยเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเกิดการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นในบริบทและรูปแบบที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของรัฐบาลเองกำลังอยู่ในช่วงของการเร่งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้เกิดการร่วมมือในระดับต่างๆ ที่สูงขึ้นได้ต่อไป

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งพิเศษของคณะผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย.นี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจร่วมคณะเดินทางมากที่สุดถึง 570 คน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการเดินทางที่นอกเหนือจากการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจตามเป้าหมายของทั้ง 2 ประเทศ

นายสมคิด กล่าวว่า การจัดสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ครั้งนี้เพื่อนำเสนอโอกาสแห่งความร่วมมือของภาครัฐบาล ภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่นในการส่งเสริมและยกระดับการค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เดินทางมายังประเทศไทย ทั้งยังได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการไทย ผู้ประกอบการญี่ปุ่นทั้งในระดับ LEs และ SMEs ตลอดจนนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมสัมมนากับคณะ METI ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,200 คน

โดยเนื้อหาการสัมมนาจะอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่ METI ได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไทยไปสู่ Industry 4.0 (ญี่ปุ่นเรียกแนวคิดนี้ว่า Connected Industries) พร้อมด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์และผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้เป็นรูปแบบจนเกิดเป็นการทำงานอย่างชาญฉลาด รวมทั้งการลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายในหลายๆ เรื่อง อาทิ ความร่วมมือในการขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรม ฝั่งภาคเอกชนระหว่าง Keidanren, Japan Chamber of Commerce and Industry สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย, ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สำนักงาน EEC กับ JICA และบริษัท Hitachi,

ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ Industry 4.0 โดยอาศัยองค์ความรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยเพื่อช่วยพัฒนาวิศวกรและอาชีวศึกษาของไทยในอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ ผ่านโครงการ “Flex Campus”, ความร่วมมือในการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ของไทยระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับองค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ), ความร่วมมือด้านการค้า ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ฯลฯ

อีกทั้ง ยังได้มีการจัด Business Matching ระหว่างนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทยในกลุ่ม 5 อุตสาหกรรม 1) ยานยนต์ 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3) เกษตร อาหาร และสุขภาพ 4) ธุรกิจบริการ และ 5) หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน

ส่วนความร่วมมือด้านแผนงาน EEC ที่เป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจะผลักดันให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นและหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยในวันที่ 13 ก.ย.นี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม จะนำ Mr. Hiroshige Seko รมว.เศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นพร้อมคณะ เดินทางไปยังพื้นที่จริงของ EEC ณ สนามบินอู่ตะเภา รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อเป็นการแสดงถึงความพร้อมและศักยภาพในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเรือ ระบบสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงความตั้งใจอย่างเป็นรูปธรรมในการผลักดัน EEC ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นายสมคิด กล่าวว่า ในการจะเข้าลงทุนประเทศใดจะต้องมีเรื่องของ Hard Factor ซึ่งประเทศไทยเตรียมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลังจากหยุดชะงักมานาน ทุกโครงการพยายามเร่งให้เกิดขึ้นภายในช่วงปี 2 ปีนี้ให้ได้ นอกจากนี้ยังมี Soft Factor ซึ่งสำคัญมากกว่า Hard Factor

“นักธุรกิจญี่ปุ่นอยู่ในไทยส่วนใหญ่ 40-50 ปี เป็นประเทศที่ลงทุนที่ไหนจริงจังที่นั่น อยู่เป็นบ้านที่สองที่สาม แม้เมืองไทยจะไม่เพียบพร้อม 100% แต่นักธุรกิจญี่ปุ่นหลายกลุ่มทำไมยังอยู่ในประเทศไทย ก็เพราะว่าวัฒนธรรม เป็นมิตร อยู่แล้วสบายใจ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Soft Factor และรัฐบาลไทยพยายามขจัดอุปสรรคให้เร็วที่สุด คอยดู Ranking ทั้งหลายที่ต่างประเทศจัดอันดับให้ไทย เร็วๆนี้ World Bank จะประกาศรอบใหม่ อย่างน้อยๆ 4 Factor ที่เรายกระดับขึ้นมา ขณะเดียวกันเรากำลังสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ แต่ต้องอิงเกษตรเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ และจะต่อยอดไปสู่นวัตกรรมมูลค่าเพิ่มให้มาดขึ้น รวมทั้งไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เรามั่นใจว่าด้วยความร่วมมือเราทำได้

นายสมคิด กล่าวต่อว่า เราไม่เคยลืมว่าเราเคยเป็นประเทศเกษตรกรรม และจะต้องไม่ลืมว่าเรามาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ได้เพราะใคร ญี่ปุ่นมีบทบาทสูงสุดในการช่วยเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทย แต่ขณะนี้ประเทศไทยมาถึงอีกจุดหนึ่งแล้ว เศรษฐกิจเราฟื้นตัวขึ้นมา ทุกอย่างเริ่มแข็งแกร่งขึ้นมา เราเสียเวลาไปนานพอแล้วใน 10 ปีที่ผ่านมา แต่ข้างหน้านายกรัฐมนตรีกำลังขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ได้ เมื่อถามว่าเราจะร่วมอะไรกันได้บ้าง เราเห็นชัดในวันนี้รัฐมนตรีญี่ปุ่นนำคณะมาไทย จะเชื่อมต่อยังไงระหว่าง 4.0 กับ Connected Industries