สั่งแบนสารพิษพาราควอต ชาวไร่แห่ตุนร้านขายปุ๋ยป่วน

คณะกรรมการวัตถุอันตราย “แบน” 3 สารเคมีเกษตรอันตราย “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” มีผล 1 ธันวาคม 2562 ส่งผลร้านจำหน่ายสารเคมีเกษตรทั่วประเทศป่วนหนัก เหตุเหลือสต๊อกตกค้าง 34,688 ตัน มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ชาวไร่แห่ตุนก่อนขาดตลาด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ลงมติแบบเปิดเผยให้ “ยกเลิก” การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คณะกรรมการพิจารณาปรับ “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง มีผล 1 ธ.ค. 2562

พลิกมติ กก.วัตถุอันตราย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ปี 2560 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ลงมติไม่ยอมให้มีการ “แบน” 3 สารเคมีอันตรายมาตลอด โดยกรมวิชาการเกษตรอ้างว่า ยังไม่สามารถหาสารทดแทนพาราควอตได้ มาจนกระทั่งถึงก.พ. 2562  จึงมีมติให้ “จำกัด” การใช้ตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร และวันที่ 27 พ.ค. จึงออกมติครั้งสำคัญให้ “จำกัด” การใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดและทบทวนมาตรการจำกัดการใช้ในอีก 2 ปี นับจากก.พ. 2562 แต่หากมีสารทดแทนก็ประกาศห้ามใช้ได้โดยไม่ต้องรอถึง 2 ปี

“มติครั้งสุดท้ายคือให้จำกัดการใช้จนกว่าจะหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพและราคาใกล้เคียงกับสารเคมีตัวเดิมที่เกษตรกรรับได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี มีเพียงรายชื่อสารเคมี 16 ชนิดที่กรมวิชาการเกษตรเห็นว่า เป็นสารเคมีทางเลือกที่นำมาใช้ได้ ที่สำคัญยังไม่มีใครรู้ว่าสารเคมีทางเลือกเหล่านี้จะราคาเท่าไร ประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด และยังไม่มีรายงานความปลอดภัยทางวิชาการมาสนับสนุนทั้งในแง่ตัวเกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับมติตัวเองตามแรงกดดันทางการเมืองที่ต้องการให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด” แหล่งข่าวในกลุ่มต่อต้านการแบนสารเคมีตั้งข้อสังเกต

สต๊อกตกค้าง 34,688 ตัน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรกลับไปพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสมในการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่เหลืออยู่ในประเทศ โดยปริมาณ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส  คงเหลือ ณ วันที่ 30 มิ.ย.ตามตัวเลขกรมวิชาการเกษตรเหลือตกค้าง 34,688 ตันอยู่ในสต๊อกของโรงงาน/ร้านค้าในต่างจังหวัด 11,868 ตัน, ผู้ขายในกรุงเทพฯ 5.72 ตัน, ผู้ผลิตและผู้นำเข้า 18,850 ตัน และผู้จัดจำหน่าย (ขายส่ง) อีก 3,964 ตันมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

ร้านค้าร้องโรงงานรับคืนสต๊อก

นายณรงค์ ตุงคะสมิต เจ้าของร้านเอ็มพีเค การเกษตร จังหวัดนครสวรรค์กล่าวว่า ร้านต้องเร่งระบายสต๊อกด้วยการลดราคาสินค้าที่มีอยู่ในสต๊อกและหยุดนำเข้าคาดว่าราคาจำหน่ายไกลโฟเซตจะลดลง 20-30% จากลิตรละ 400 บาท โดยสินค้าสารเคมีตกค้างหลัง 1 ธ.ค. ที่จะขายคืนให้โรงงานผู้ผลิต/นำเข้ามา

“ในเชิงทฤษฎีอาจทำได้ แต่ทางปฏิบัติยาก สิ่งที่ต้องระวังคือ สารเคมีที่โดนแบนไปในตลาดอาจมีขายใต้ดินหรือนำไปเร่ขายเพื่อระบายสินค้าต่อ”

ส่วนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่จะมาแทนพาราควอต-ไกลโฟเซตคือ กูลโฟติเนต ราคาแพงกว่า 1 เท่า(จาก 300-400 บาท/ลิตร) ส่วนคลอร์ไพริฟอสมีสารที่ใช้แทนกันได้กว่า 100 ชนิด เช่น โกรฟิโนคอส, ไกรอะโซฟอส ราคา 190-350 บาท/ลิตร ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ

รายงานข่าวจากร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรในเชียงใหม่ว่า การแบนส่งผลต่อยอดขายของทางร้านมาก โดยปริมาณคนซื้อลดลง 70%ทั้ง 3 ชนิดขายไม่ออกและเหลือในสต๊อกจำนวนมาก แต่ไม่สามารถจัดโปรโมชั่นได้ เนื่องจากกำไรต่ำมากอยู่แล้ว

ด้านร้านเกษตรเนินสูง จ.จันทบุรี กล่าวว่า บริษัทผู้สั่งสารเคมีทั้ง 3 ตัว ยังไม่มีบริษัทใดติดต่อมาเรื่องรับคืนสินค้าแต่อย่างใด หากร้านที่มีสต๊อกมากจะมีปัญหาในการระบายสินค้าช่วง 2 เดือนเศษนี้เพราะเลยช่วงเวลาใช้งานไปแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าร้านขายเคมีการเกษตรอาจจัดโปรโมชั่นให้ชาวสวนซื้อไปเก็บไว้ใช้เองในอีก 6 เดือนข้างหน้า

สอดคล้องกับความเห็นของบริษัทจันทบุรีคลังเกษตร เคยหารือกับบริษัทที่จัดจำหน่ายก็ยังไม่ได้รับคำตอบเรื่องการรับคืนแต่อย่างไร

ขณะที่ร้านกระบี่สินเกษตรกล่าวว่า หารือไปทางผู้ผลิตว่าจะได้ส่งคืนคลังสินค้าหรือให้จำหน่ายในราคาถูก และเกิดปรากฏการณ์เกษตรกรเริ่มหาซื้อพาราควอต-ไกลโฟเซตไปตุนเพื่อใช้ในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า

เกษตรกรร้องศาลปกครอง

ด้านนางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง จ.ราชบุรี ตัวแทนภาคเกษตรกร กล่าวว่า ผลมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันนี้ “แม้เราจะยอมรับผล แต่จะไม่ยอมถอย” โดยหลังจากนี้จะดำเนินการ 2 แนวทางคือ 1. ในวันที่ 28 ต.ค. เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวและขอให้ศาลมีคำสั่งถอดถอนมติสาธารณสุข/2560 เพราะมีการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ

กับ 2. รอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับมารับฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง เนื่องจากคำสั่งที่ให้กระทรวงเกษตรฯไปรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ฝ่ายนั้น ทาง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้ดำเนินตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่ง โดยฝ่ายเกษตรกรไม่ได้แสดงความคิดเห็นครบถ้วน

ด้านนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์ม กล่าวในฐานะแกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอุตสาหกรรมว่า ไม่คิดว่าคณะกรรมการฯจะมีมติให้แบนโดยไม่ฟังเสียงเกษตรกร ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยหลังจากนี้เตรียมประชุมกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อมูลร้องต่อศาลปกครอง พิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเช่นกัน เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกรต่อไป

ส.อ.ท.ประเมินผลกระทบ

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ทางกลุ่มจะประชุมเพื่อประเมินผลกระทบและท่าทีหลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมีว่า จะมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารอย่างไร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผู้ส่งออกอาหารไทยสามารถผลิตและส่งออกอาหารไปยังตลาดโลกได้โดยไม่มีปัญหาจากสารพิษตกค้าง เพราะการส่งออกสินค้าแต่ละครั้งนั้นไทยต้องผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ ทั้งมาตรฐานภายในของไทย มาตรฐานสากลด้านอาหาร และมาตรฐานเฉพาะของประเทศผู้นำเข้าซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการเลือกผลิตและส่งออกไปยังตลาดใด แต่ยืนยันได้ว่า ที่ผ่านมามีกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงตลาดส่งออกเป็นไปตามมาตรฐานและยิ่งเป็นสินค้าอาหารแปรรูปยิ่งผ่ากระบวนการผลิตซึ่งเข้มข้นเรื่องมาตรฐานมากขึ้นไปอีก