ส่งออกทรุดเอกชนเบรกลงทุน สวนทางนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย-อาวุธพุ่ง

3 ไตรมาสแรกไทยนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย-รถยนต์-อาวุธ โตพุ่งสวนทางทุน-วัตถุดิบทรุด “ภาคอุตสาหกรรม” ผวา ศก.โลกไม่ดี-ศก.ในประเทศไม่ขยายตัว ส่งออกติดลบ เร่งลดสต๊อกเมินลงทุนใหม่ ด้านนักวิชาการฟันธงเทรดวอร์ทุบเศรษฐกิจโลกหนักซึมลากยาวถึงปี”63-64

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าสถานการณ์การนำเข้าในช่วง 3 ไตรมาสแรกมีมูลค่า 179,190.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 3.68% โดยสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในการผลิตมีการนำเข้าลดลง ได้แก่ กลุ่มเชื้อเพลิง ลดลง 2.8% ทุน ลดลง 4.5% วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลง 8.4% ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าฟุ่มเฟือยกลับมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น2.6% เช่น นม ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องประดับและอัญมณี สินค้ากลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง เพิ่มขึ้น2.3% โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารและรถยนต์บรรทุก รถจักรยานยนต์ และกลุ่มอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น เพิ่มขึ้น 309.3%

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีโอกาสจะซึมยาวไปถึงปี 2563-2564 ซึ่งเมื่อส่งออกไปตลาดโลกไม่ได้ และการขายในประเทศก็ไม่ดีเท่าที่ควร ภาพรวมการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบก็ติดลบ ทั้งที่อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าซึ่งควรจะมีการนำเข้าเครื่องจักรมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่ในทางตรงข้ามกลับมีการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเข้ามาแทน โดยเฉพาะคนระดับกลางถึงระดับบน ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และหากในปีหน้าเรื่องสงครามการค้ายังคงหาข้อสรุปไม่ได้เชื่อว่าสถานการณ์นี้จะรุนแรงขึ้น

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมสำคัญโดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนประกอบ ลดการนำเข้าวัตถุดิบลง และให้ความสำคัญกับการลดสต๊อกที่เหลือให้น้อยลง เป็นผลจากการส่งออกไม่ได้ขยายตัว จะเห็นว่าผู้ผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์บางบริษัทได้ประกาศการปิดการผลิตชั่วคราวสะท้อนให้เห็นว่าสินค้าขายไม่ได้หรือขายลำบากมากขึ้น

“เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะตลาดสำคัญก็ไม่ขยายตัวเลย บางประเทศติดลบด้วยนั้นเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก โดยขณะนี้รับออร์เดอร์ไปถึงปลายปีแล้ว ส่วนในปีหน้าต้องรอดูคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จึงจะเห็นภาพชัด หากมีการนำเข้าสินค้าไทยก็จะมีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต”

โดยขณะนี้สภาหอการค้าฯประเมินภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2562 จะติดลบ 1% ส่วนปี 2563 อาจขยายตัว 3% จากฐานการส่งออกปีนี้ลดต่ำลงมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญจากสถานการณ์สงครามการค้าภายหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจโลกรวมไปถึงทิศทางค่าเงินบาทซึ่งเป็นปัจจัยต่อการส่งออก

ขณะที่หากดูเครื่องจักรสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการลงทุน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งแม้ว่ารัฐจะกำหนดเงื่อนไขและสิทธิพิเศษออกมาชัดเจน แต่ภาพการลงทุนยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม เนื่องจากเอกชนยังมองว่ากฎระเบียบและเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ได้เอื้ออำนวยหรือสะดวกอย่างที่คิด จึงมีผลทำให้การดำเนินการลงทุนไม่ได้เห็นภาพได้ชัด หรือเกิดภาพการลงทุนที่รวดเร็วเท่าที่ควร ดังนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามดูแลการลงทุนให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น

ขณะที่สิ่งที่จะส่งเสริมได้เพิ่ม คือ การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งภาครัฐดำเนินมาตรการ โครงการต่าง ๆ อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีผลให้เกิดการลงทุนเพื่อผลิตสินค้ามากขึ้น ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ ครั้งที่ 2/2562 ในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 นี้ ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพูดคุยด้วย พร้อมติดตามความคืบหน้าในการผลักดันการค้าชายแดน การเจรจาสิทธิพิเศษทางการ (เอฟทีเอ) เป็นต้น

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกประเมินการส่งออกทั้งปี 2562 ติดลบ 1.5% ส่วนปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 1% เนื่องจากภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกลดลง ส่วนการผลิตเพื่อขายในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ดี การท่องเที่ยวไม่เติบโต ทำให้การผลิตสินค้าออกมาขายน้อยลงตามไปด้วย


โดยจะเห็นว่าในขณะนี้กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเริ่มชะลอการนำเข้า บางรายปิดการผลิตลงชั่วคราวเนื่องจากการส่งออกสินค้าไม่ได้ แต่หากการส่งออกไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกสามารถขยายตัวได้ดี หรือการขายในประเทศดีสามารถระบายสต๊อกออกไปได้ ก็จะเกิดคำสั่งซื้อใหม่ในช่วงปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้เห็นภาพการสั่งซื้อวัตถุดิบใหม่เข้ามาหลังจากนั้น