“เฉลิมชัย” ขอพันล้านแก้โรคหมู ชดเชยเกษตรกรคุมพื้นที่เสี่ยง 27 จังหวัด

เฉลิมชัยนั่ง ปธ.คกก.วาระแห่งชาติ ASF ในสุกรนัดแรก ชง ครม.ของบฯกลาง 950 ล้านบาทดูแลพื้นที่เสี่ยง 27 จังหวัด เตรียมชดเชยเกษตรกร-บริหารจัดการ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกันควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรแห่งชาติแทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีภารกิจเดินทางไปประเทศตุรกีระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน 2562 ว่า ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) จึงได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อยกระดับการดูแลปัญหาและป้องกันโรค โดยให้เร่งจัดทำงบประมาณ เพื่อดูแล

และชดเชยให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงที่มีความเสี่ยง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันปัญหาไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศไทย โดยการทำงานครั้งนี้จะดำเนินการแบบบูรณาการทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อป้องกันความเสี่ยง

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า พื้นที่ที่จะต้องดูแลและเฝ้าระวังหรือมีความเสี่ยงจากการระบาดในสุกรประมาณ 27 จังหวัด โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดน เช่น จังหวัดจันทบุรี ตราด สระแก้ว เป็นต้น ซึ่งในที่ประชุมเห็นชอบที่จะนำเสนอของบประมาณกลาง วงเงิน 950 ล้านบาท ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็ว ๆ นี้ เพื่อเข้ามาดูแลและป้องกันปัญหาโรค ASF

“กรณีที่จีนประกาศเรื่องการระบาดของโรค ASF เมื่อ 3 สิงหาคม 2561 ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในการดูแลและเฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดได้ร่วมกับทุกหน่วยงานในการจัดทำคู่มือการดูแลและป้องกันโรคให้กับทุกหน่วยงาน และเกษตรกรผู้เลี้ยงได้มีแนวทางในการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประมาณ 200,000 ราย และมีสุกรในระบบประมาณ 22 ล้านตัว ซึ่งโรคนี้มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประเทศไทยมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเครื่องมือและงบประมาณ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดการระบาดเข้ามาภายในประเทศไทย”


สำหรับงบประมาณ 950 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการชดเชยสำหรับผู้เลี้ยงที่มีความเสี่ยง อาจต้องทำลายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 ที่กำหนดให้จ่ายชดเชยคืนให้เกษตรกรสูงสุดไม่เกิน 75% ของราคาตลาด คิดเป็นเงิน 381 ล้านบาท และที่เหลืออีก 569 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้สำหรับภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าจ้างเหมาค่าเจ้าหน้าที่ที่คอยเฝ้าระวัง เครื่องมือกำจัด เครื่องตรวจสุกรที่มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคพร้อมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกำจัดซากสุกรที่ได้รับเชื้อโรค ทั้งนี้ ในการทำลายสุกร ที่มีความเสี่ยงนั้นจะดำเนินการโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน