วิกฤตน้ำแล้งลากยาว 6 เดือน นาปรัง 2.7 ล้านไร่เตรียมยืนต้นตาย

Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images (file photo)

น้ำใช้ลุ่มเจ้าพระยาเหลือแค่ 26% แต่ต้องลากยาวกว่าฝนจะตกในอีก 6 เดือนข้างหน้า เหตุเขื่อนหลักของประเทศเก็บน้ำได้น้อยมาก ด้านชาวนาเหนือตอนล่างต่อภาคกลางระทึก นาปรัง 2.76 ล้านไร่เตรียมตัวยืนต้นแห้งตาย อีสานอ่วมไม่แพ้กัน เขื่อนอุบลรัตน์หนักสุดน้ำติดลบ -4% จับตา “ขอนแก่น-บุรีรัมย์” แล้งหน้าถึงขั้นขาดน้ำกิน-น้ำใช้

ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ว่า จะประสบความรุนแรงในพื้นที่ 54 อำเภอ 20 จังหวัดนอกเขตชลประทานที่ “เสี่ยง” ขาดน้ำเพื่อการเกษตรและบางพื้นที่อาจจะถึงขั้นขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

“สภาวะอากาศที่เกิดขึ้นหลังเดือนพฤษภาคมพบว่า ทั้งประเทศมีปริมาณฝนน้อยโดยทั่วถึง แม้จะมีพายุพัดผ่านเข้าสู่ประเทศไทยถึง 3 ลูก ได้แก่ ปาบึก-โพดุล-นากรี แต่ส่วนใหญ่เกิดฝนตกหนักใน สปป.ลาว และจังหวัดริมขอบแม่น้ำโขง ส่งผลให้พื้นที่ตอนในของประเทศมีปริมาณน้ำฝนไม่มากนัก จนอาจเรียกได้ว่า เกิดปรากฏการณ์ฝนตกน้อยเป็นหย่อม ๆ ปริมาณฝนสะสม(1 มกราคม-12 ธันวาคม 2562) ในหลายพื้นที่ของประเทศต่ำกว่า 800 มิลลิเมตร ตั้งแต่จังหวัดขอนแก่น-อุดรธานี-นครราชสีมา-กำแพงเพชร-อุทัยธานี ทำให้อ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศขณะนี้มีปริมาตรน้ำใช้การได้ต่ำกว่าร้อยละ 30 หลายแห่ง และที่น่ากังวลที่สุดก็คือ อ่างในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาตรน้ำติดลบถึง -4% ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งจะส่งผลไปถึงน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนในจังหวัดขอนแก่นโดยตรง” ดร.ชวลิตกล่าว

ทั้งนี้มีอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศที่มีปริมาตรน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 20 ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2562 ปรากฏเขื่อนภูมิพล 1,893 ล้าน ลบ.ม. (20%), แม่มอก 19 ล้าน ลบ.ม. (20%), จุฬาภรณ์ 9 ล้าน ลบ.ม. (7%), อุบลรัตน์ -7 ล้าน ลบ.ม. (-4%), ลำพระเพลิง 23 ล้าน ลบ.ม. (15%), ลำนางรอง 20 ล้าน ลบ.ม. (17%), ทับเสลา 20 ล้าน ลบ.ม. (14%) และกระเสียว 22 ล้าน ลบ.ม. (8%) โดยมีข้อสังเกตว่า เขื่อนลำปาว มีปริมาตรน้ำใช้การได้สูงถึง 1,403 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 75% แต่เขื่อนอุบลรัตน์ที่อยู่ในพื้นที่อีสานตอนกลางใกล้เคียงกับเขื่อนลำปาวกลับมีปริมาตรน้ำติดลบหนัก

“กรณีนี้เห็นได้ชัดว่า พายุที่พัดผ่าน สปป.ลาวเข้ามาไทยไปไม่ถึงพื้นที่รับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้แทบไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง ตรงนี้ชัดเจนว่า เกิดจากอิทธิพลฝนน้อยและตกเป็นหย่อม ๆ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเขื่อนลำนางรอง ส่งผลให้ปีหน้าพื้นที่จังหวัดขอนแก่นกับบุรีรัมย์ จะเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้อย่างหนัก” ดร.ชวลิตกล่าว

เสี่ยงจัดสรรน้ำไม่ถึงฤดูฝนปี”63

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อาศัยน้ำจาก 4 เขื่อนหลักมีปริมาตรน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2562 เขื่อนภูมิพล 1,893 ล้าน ลบ.ม. (20%), เขื่อนสิริกิติ์ 2,107 ล้าน ลบ.ม. (32%), เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 413 ล้าน ลบ.ม. (46%) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 266 ล้าน ลบ.ม. (28%) รวมมีปริมาตรน้ำใช้การได้แค่ 4,680 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 26 เท่านั้น โดยน้ำจำนวนนี้จะต้องใช้ไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคมต่อมิถุนายนหรือจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนของปี 2563 ส่งผลให้กรมชลประทานไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องระบายน้ำออกมาแค่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรองรับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็มเป็นหลักเท่านั้น จนแทบจะไม่สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตรได้อีกแล้ว

“จากตัวเลขล่าสุดของแผนการระบายน้ำฤดูแล้ง 2562/63 กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ทั้งฤดูกาล (1 พ.ย. 2562-30 เม.ย. 2563) แผนการจัดสรร 3,866 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 966.94 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 25.01 ของแผนเฉพาะวันที่ 1-12 ธันวาคม ระบายน้ำออกไปแล้ว 228.24 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 37.64 (แผน 598.40 ล้าน ลบ.ม.) และถ้ายังระบายน้ำออกมาในระดับนี้มีความเสี่ยงมากกว่า เมื่อถึงช่วงพฤษภาคมจะเหลือปริมาณน้ำอยู่ไม่ถึง 876 ล้าน ลบ.ม.” แหล่งข่าวในสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว

ด้านกรมชลประทานได้วางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ปริมาณน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้จํานวน 26,666 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจํานวน 17,699 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงปัจจุบัน (17 ธันวาคม 2562) ปรากฏใช้น้ำไปแล้ว 4,154 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนจัดสรรน้ำ

นาปรังยืนต้นตาย 1.3 ล้านไร่

ดร.ชวลิตได้แสดงความเป็นห่วงพื้นที่ปลูกข้าวในเขตภาคเหนือตอนล่างต่อเนื่องมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปี 2563 ครอบคลุมทั้งข้าวนาปรังรอบแรก (ก.พ.-มี.ค.) และรอบสอง จากการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวล่าสุดของ GISTDA พบว่า พื้นที่ปลูกข้าว 6.17 ล้านไร่ในปัจจุบันจะมีปริมาณน้ำจากการระบายของเขื่อนหลักเพียงพอไปจนถึงการเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 3.41 ล้านไร่เท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ปลูกข้าวในช่วงต้นปี 2563 ที่จะรอการเก็บเกี่ยวเหลืออยู่อีกไม่ต่ำกว่า 2.76 ล้านไร่ที่จะขาดน้ำ

“พื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 2.76 ล้านไร่จะขาดน้ำแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวนอกเขตชลประทาน ไล่มาตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย-พิษณุโลกบางส่วน-พิจิตร-กำแพงเพชรบางส่วน-นครสวรรค์-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-บางส่วนของปทุมธานี เพราะไม่สามารถระบายน้ำจากเขื่อนหลักเพื่อการเกษตรได้อีกแล้วในช่วงท้ายของแผนการระบายน้ำ และหากปีหน้าเกิดสถานการณ์ฝนล่าช้าขึ้นมาอีก ความเสียหายก็จะหนักยิ่งขึ้น จากความจำเป็นที่กรมชลประทานจะต้องจัดสรรน้ำโดยให้ความสำคัญกับน้ำกินน้ำใช้ก่อนเป็นอันดับแรก” ดร.ชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม วงการค้าข้าวได้ประมาณการตัวเลขจากพื้นที่ปลูกข้าวที่จะขาดแคลนน้ำจนต้องปล่อยให้ข้าวแห้งตายจะคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกที่จะประสบความเสียหายอยู่ระหว่าง 1.2-1.3 ล้านตัน