ก.อุตทุ่มหมื่นล้าน อุ้มชาวไร่อ้อย ค่าปัจจัยการผลิต-ยกเครื่องช่วยSMEs

Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

ครม.ผ่านร่างหลักการช่วยชาวไร่อ้อยฉลุย เตรียมเคาะวงเงิน 10,000 ล้านบาท อีกครั้งในปีཻ หนุนปัจจัยการผลิตให้ต่ำกว่า 100 บาท/ราย ชาวไร่รอรับเงินหลังปิดหีบ มี.ค. 63 กระทรวงอุตสาหกรรมอัดงบฯทุ่ม 800 ล้านบาท อุ้มทั้ง SMEs ดึงพาร์ตเนอร์ TOYOTA-เอกชน ชี้เป้าพัฒนาสินค้าชุมชน พร้อมดันร่าง กม.กองทุน SMEs ประชารัฐ 3,000 ล้าน “ถาวร” แน่

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รักษาการรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 โดยวางกรอบวงเงินช่วยเหลือ 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอ สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและบรรเทาภาระค่าครองชีพ

เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ราคาน้ำตาลโลกที่อยู่ในช่วงขาลง บวกกับภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นอย่างมาก ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ฉุดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 อยู่ที่ 750 บาท/ตันอ้อย ในระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. อัตราขึ้นลงอยู่ที่ 45 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. โดยระดับความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 12.51 ซี.ซี.เอส. จะได้รับในอัตราตันละ 862.91 บาท

Advertisement

สำหรับวงเงินที่จะช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแต่ละรายนั้น เดิมกำหนดไว้ให้แต่ละรายไม่เท่ากัน แต่จากการหารือแนวทางดังกล่าวยังไม่เหมาะสม ดังนั้น คาดว่าวงเงินแต่ละรายต้องกำหนดใหม่ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องได้รายละไม่ต่ำกว่า 100 บาท เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลได้เคยสัญญาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างหลักการดังกล่าวได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดจะต้องเข้า ครม.อีกครั้ง เพื่ออนุมัติวงเงิน และกำหนดอัตราวงเงินให้ชาวไร่แต่ละราย คาดว่าสามารถจัดสรรเงินให้ได้ เดือน มี.ค. 2563 หลังการปิดหีบทันทีอีกด้านหนึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน SMEs มีจำนวน 2.7 ล้านราย ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมามาตรการและการพัฒนาไม่ได้ผลสำเร็จมากนัก คิดเป็น 1% เท่านั้น ดังนั้นในปี 2563 เตรียมใช้งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท พัฒนาผู้ประกอบการ 16,200 คน 2,200 กิจการ ให้เกิด 9,600 ผลิตภัณฑ์ ใน 70 กลุ่มคลัสเตอร์ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท

โดยจะเริ่มปรับโครงสร้างภายใน ตั้งกองเกษตรอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) โดยเน้นการบริการที่รวดเร็วตรงเป้าหมายมากขึ้น

Advertisement

ขณะเดียวกันได้ดึง TOYOTA มาเป็นพาร์ตเนอร์รูปแบบพี่เลี่ยงน้อง (big brother) เพื่อสนับสนุนด้านบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรรูปแบบดั่งเดิม สู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจเกษตร โดยนำระบบการผลิตและการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเกษตร เช่น ระบบการผลิตแบบโตโยต้า Toyota Production System (TPS) มาเป็นต้นแบบ พร้อมให้ผู้เชี่ยวชาญอบรม SMEs ด้วย

“สิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมใน 3 เดือนแรก จะเห็นการลงพื้นที่ตามศูนย์ภาคมากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวจะถูกชี้เป้าว่า SMEs รายใดที่จะต้องพัฒนา และจะเดินหน้าโครงการเดิมและจะเปิดโครงการพัฒนาใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน เชื่อว่าแผนพัฒนา กสอ.จะทำให้ SMEs โตขึ้นแบบดับเบิลเป็น 2 เท่า จาก 2% เป็น 4% เป็นต้น”

นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กรมลดขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือ SMEs ตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งมีวงเงิน 3,000 ล้านบาทลง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น เพราะหลังจากเปิดให้ SMEs ยื่นขอเมื่อเดือน พ.ย. 2562 มีผู้ยื่นกว่า 800 ราย วงเงิน 2,200 ล้านบาท แต่มียอดการอนุมัติแล้ว 10% ซึ่งกระบวนการพิจารณาที่ใช้เวลา 7-8 เดือน ถูกมองว่าล่าช้า กรมจึงลดขั้นตอน โดยหลังรับคำขอ SMEs จะส่งให้คณะอนุกรรมการกองทุนพิจารณาคุณสมบัติขั้นต้น ขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อส่งให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วิเคราะห์ และอนุมัติวงเงินได้เลย

Advertisement

“แนวคิดจะผลักดันเป็นกองทุนถาวรพูดกันมานานแล้ว โดยล่าสุดได้เริ่มร่างกฎหมายกองทุน SMEs เตรียมจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา เนื่องจากกระทรวงมีภารกิจสำคัญบริหารเงินกองทุนช่วยเหลือ SMEs ถ้าปรับเปลี่ยนเป็นกองทุนถาวรจะมีเงินเข้ากองทุนเป็นก้อนทุกปี โดยไม่ต้องรอเงินคืนมาหมุน”