ASF ป่วนปศุสัตว์ไทย ปี63 ไก่รับอานิสงส์ส่งออกทะลุล้านตัน

สถานการณ์ปศุสัตว์ของไทยในรอบปี 2562 ที่ผ่านพ้นไป สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้เลี้ยงมากพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร หรือหมู จากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2561 ในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ใช้เวลาเพียง 3 เดือน ระบาดจากภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ สร้างความเสียหายตายกว่า 300 ล้านตัว จากปริมาณหมูที่จีนเลี้ยงปีละประมาณ 580 ล้านตัว ส่งผลให้ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มของจีนที่ซื้อขายในระดับ กก.ละ 60 บาท ทะยานขึ้นไปถึง กก.ละ 140 บาทในปัจจุบัน

ในส่วนของเวียดนาม โรคนี้เริ่มระบาดที่ภาคเหนือเดือนมกราคม 2562 และใช้เวลาเพียง 3 เดือน ระบาดไปทั่วประเทศ สร้างความเสียหายไปกว่า 3 ล้านตัว จากนั้นโรคนี้ก็ได้ระบาดเข้าสู่ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่มีพรมแดนติดกับไทย ในช่วงกลางปี 2562 ทำให้ไทยตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หากเกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อผู้เลี้ยงค่อนข้างมาก

ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ออกประกาศเขตเฝ้าระวังโรค ASF ในพื้นที่เสี่ยงหลายระลอก รวมทั้งหมด 27 จังหวัดที่มีพรมแดนติดประเทศเมียนมา สปป.ลาวและกัมพูชา ตั้งแต่ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นไปถึงเชียงใหม่ เชียงรายลงมาที่เลย หนองคาย อุบลราชธานี มาจดภาคตะวันออกที่จันทบุรี และตราด ฉะนั้น ผู้ใดที่ต้องการจะเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ (สุกร, หมูป่า) รวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์และเอ็มบริโอ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้น ๆ ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

ทิ้งหมูตายจาก ASF ลงแม่น้ำ

ในส่วนของไทย ความปั่นป่วนวุ่นวายต่อการระบาดของโรคนี้ เกิดขึ้นในปลายเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อผู้เลี้ยงหมูในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ทิ้งหมูที่ตายจากโรคนี้ลอยมาตามแม่น้ำรวก ที่มีพรมแดนติดกับอำเภอแม่สาย และเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จำนวนมาก

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้บริหารสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ต้องขึ้นไปประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย วางแผนและบัญชาการแก้ปัญหา ตั้งด่านสกัดการขนย้ายหมูบนถนนทุกสายของเชียงราย หลังข่าวลือสะพัดว่ามีการระบาดของโรคนี้ในหลายอำเภอ ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือและส่วนกลาง ต้องระดมทุนส่วนตัวกว่า 40 ล้านบาท ออกไปซื้อหมูที่ป่วย หรือมีความเสี่ยงจะเกิดโรคนี้มาทำลาย หรือชำแหละขาย

“หมูที่ป่วย ชาวบ้านเลี้ยงโดยไม่มีการทำวัคซีนป้องกันโรค ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (PRRS) ในไทยยังไม่เกิดโรคนี้แต่อย่างใด” นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มที่ทรุดลงไปเหลือ กก.ละ 40 กว่าบาท เพราะผู้เลี้ยงตื่นตระหนก เทขายหมูหนีโรคระบาด จากต้นทุนการเลี้ยง กก.ละ 60 บาทขึ้นไป ในช่วงเดือนกันยายน 2562 จึงเริ่มกระเตื้องขึ้นในเดือนตุลาคม 2562 ล่าสุดปลายเดือนธันวาคม 2562 ขยับขึ้นมาเป็น กก.ละ 66 บาท

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯประกาศตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกันแห่งชาติขึ้น โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีการประชุมเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งมีการเสนอของบประมาณจากส่วนกลางปี 2562 ประมาณ 950 ล้านบาทมารับมือกับโรคนี้ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้

“ปลายปี 2562 แม้ไทยจะส่งออกหมูเข้ากัมพูชาได้วันละ 1,000-2,000 ตัว แต่ราคาหมูก็ยังไม่แข็งแรงนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ การบริโภคหมูลดลง ดังนั้นในปี 2563 ปัจจัยสำคัญที่จะชี้ทิศทางราคาหมูจึงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ห้างโมเดิร์นเทรดที่กลับมาขายหมูชำแหละในราคาต่ำเพื่อดึงผู้บริโภคเข้าห้าง ควรยกเลิกการบิดเบือนราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้เขียงหมูในตลาดสดอยู่ได้ กับอีกปัจจัยหนึ่ง คือ โรค ASF ที่ต้องเฝ้าระวังเข้มงวดกันต่อไป ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายกำลังร่างกฎเกณฑ์ในการรับมือโรคนี้กันเพิ่มเติม รับกับงบประมาณที่จะออกมาต้นปี 2563 หากป้องกันได้ก็จะดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าหากเกิดโรคขึ้นมา อาจจะเห็นราคาหมูเป็นที่ กก.ละ 30-40 บาทอย่างแน่นอน” นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าว

คาดปี”63 จีนซื้อไก่ไทย 8 หมื่นตัน

จากสถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในจีน และประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ความต้องการเนื้อไก่ไปบริโภคทดแทนเนื้อหมูมากขึ้น จึงคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกเนื้อไก่ได้ประมาณ 9.4 แสนตัน มากกว่าปี 2561 ที่ส่งออก 8.92 แสนตัน มูลค่าส่งออกปีนี้ 1.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ส่วนปี 2563 คาดว่าจะส่งออก 9.8 แสนตัน มูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มปี 2562 จึงอยู่ในระดับ กก.ละ 35-36 บาทเทียบกับปี 2561ที่อยู่ในระดับ กก.ละ 31-32 บาท

นายคึกฤทธิ์ อารีย์ปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เนื้อเพื่อส่งออกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 คาดว่าไทยจะส่งออกไก่เนื้อไปจีนถึง 5 หมื่นตัน จากโรงงานแปรรูปไก่ของไทยที่จีนรับรองแล้ว 15 แห่ง สูงกว่าปี 2561 ที่ส่งไปจีน 1.8 หมื่นตัน และคาดว่าปี 2563 หากจีนรับรองโรงงานแปรรูปไก่ไทยเพิ่มอีก 12 แห่ง ไทยจะสามารถส่งไก่เข้าจีนได้ถึง 8 หมื่นตัน นับว่าตลาดจีนค่อนข้างมาแรง จากปัญหาราคาเนื้อหมูพุ่งสูง

ภาพโดยรวม ตลาดไก่ไทยในญี่ปุ่นยังทรงตัว แต่ปี 2563 จะดีขึ้น จากการที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก โดยเนื้อไก่แปรรูปของไทยจำหน่ายอยู่ในระดับตันละ 4,000-5,000 เหรียญสหรัฐ ตลาดสหภาพยุโรป ตันละประมาณ 3,000 กว่าเหรียญสหรัฐ แต่ในส่วนไก่สด

แช่เย็นแช่แข็งตลาดสหภาพยุโรปมีปัญหาจากค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง และที่สำคัญ บราซิลคู่แข่งรายใหญ่ค่าเงินเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัวลง 10% เศษ บวกกับค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้น 6% ทำให้ไทยเสียเปรียบบราซิลด้านค่าเงินถึง 20% ราคาเฉลี่ยไก่สดไทยที่ขายในยุโรปจึงตกประมาณตันละ 2,200 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

ไก่ไข่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

จากผลผลิตไข่ไก่ที่เกินความต้องการบริโภคในปี 2561 และภาครัฐ โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ได้ดำเนินการปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ปรับลดการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์จากปีละ 5.5 แสนตัว เหลือปีละ 4.5 แสนตัว ปู่-ย่าพันธุ์จาก 5,500 ตัว/ปี เหลือ 3,800 ตัว/ปี การปรับลดแม่ไก่ยืนกรงเหลือ 50 ล้านตัว ซึ่งจะได้ไข่ไก่วันละ 40 ล้านฟอง รวมทั้งการส่งออกไข่ไก่ส่วนเกินไปจำหน่ายยังต่างประเทศส่งผลให้สถานการณ์ราคาไข่ไก่ที่เคยทรุดตัวเหลือฟองละ 1.7-1.8 บาท (ไข่คละ) ปรับตัวสูงขึ้นสูงกว่าต้นทุนการผลิต โดยราคาไข่ไก่คละปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 2562 ที่ราคาเฉลี่ยฟองละ 2.64 บาท เดือน พ.ค. ราคาฟองละ2.74 บาท และ มิ.ย. ราคาฟองละ 2.80 บาท และสัปดาห์แรกเดือน ก.ค. 2562 เฉลี่ยที่ฟองละ 2.83 บาท

ทั้งนี้ ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์การผลิตไข่ไก่ (รวมต้นทุนทั้งที่เป็นเงินสดและต้นทุนที่ไม่เป็นเงินสด) เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.62 บาท ส่วนผลผลิตปี 2562 กรมปศุสัตว์คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตไข่ไก่ 14,810 ล้านฟอง ลดลงจากปี 2561 ประมาณ 8%

ดังนั้น แนวโน้มราคาไข่ไก่ปี 2563 จึงน่าจะมีเสถียรภาพพอสมควร หากยังรักษาสมดุลการผลิตไว้ในระดับข้างต้น