‘ทียู’ ลงทุนผลิตโปรตีนแมลง ผนึกสตาร์ตอัพอิสราเอลดันนวัตกรรม

“ทียู” เตรียมเปิดตัว “โปรตีนแมลง” นวัตกรรมใหม่ มี.ค.นี้ ผลสำเร็จการลงทุนสตาร์ตอัพ “ฟลายอิ้ง สปาร์ค” รายแรกจากอิสราเอล มั่นใจตลาดโตพุ่ง ตั้งเป้าดันกำไรสินค้านวัตกรรมถึง 20% ภายใน 5 ปี ด้าน กมธ.ยุโรปชี้แนวโน้มตลาดสดใส

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผยแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่า บริษัทมีแผนเน้นการลงทุนในสินค้านวัตกรรมด้านอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะโปรตีนสกัดจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้ดี 

รูปแบบการลงทุนนั้น ทียูได้จัดสรรงบประมาณลงทุนสตาร์ตอัพผ่านกองทุน Venture Fund มูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท ไว้สำหรับมองหาสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ล่าสุดขณะนี้ได้นำเงินลงทุน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 150 ล้านบาท ลงทุนในสตาร์ตอัพ “ฟลายอิ้ง สปาร์ค” ซึ่งเป็นผู้ผลิตโปรตีนทางเลือกจากแมลง สัญชาติอิสราเอลที่มาลงทุนประเทศไทย โดยจะมีการเปิดโครงการอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ 

อีกด้านหนึ่ง ทางทียูได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร (Foodtech Incubator & Accelerator Program : FIAP) ภายใต้ชื่อ “SPACE-F” ไปเมื่อปี 2562 เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหาร (FoodTech Startup) โดยคัดเลือก 23 สตาร์ตอัพจาก 6 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี, อินเดีย, นอร์เวย์, สิงคโปร์ และไทย ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารมาพัฒนาบ่มเพาะเป็นสินค้านวัตกรรม ซึ่งหากจะนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ก็สามารถทำได้หรืออาจจะขายนวัตกรรมนั้นให้กับผู้สนใจก็ได้

“เป้าหมายการพัฒนาบริษัทต้องการสร้างกำไรจากสินค้านวัตกรรมให้เติบโต 15-16% ของรายได้รวมในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการไต่ระดับมาจากก่อนหน้าที่อัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 14% โดยสตาร์ตอัพเป้าหมายที่ทียูจะเข้าลงทุนต้องมีอัตราการเติบโตของกำไรประมาณ 20% แต่ในส่วนของ M&A หากมีโอกาสยังจะทำต่อแต่ไม่ได้โฟกัสหลัก” 

สำหรับการโครงการ “SPACE-F”นั้น เน้นพัฒนา 9 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารเพื่อสุขภาพ (health & wellness) 2.โปรตีนทางเลือก (alternative proteins) 3.กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (smart manufacturing) 4.บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (packaging solutions) 5.ส่วนผสมและอาหารใหม่ (novel
food & ingredients) 

6.วัสดุชีวภาพและสารเคมี (biomaterials & chemicals) 7.เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (restaurant tech) 8.การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (food safety &
quality) และ 9.บริการอัจฉริยะด้านอาหาร (smart food services) โดยตั้งเป้าว่าโครงการ SPACE-F นี้ จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 60 ราย ภายในเวลา 3 ปี และจะเป็นหนึ่งในโครงการที่สอดรับกับนโยบายครัวโลกของไทย และช่วยรักษาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น

นายราฟาเอล เปเรซ เบอร์เบจัล เจ้าหน้าที่นโยบายอาวุโสด้านความปลอดภัยอาหารประจำคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวในการอบรม The Better Training for Safer Food (BTSF) ระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อียู กำลังให้ความสนใจโปรตีนจากแมลงเป็นพิเศษในขณะนี้ โดยเฉพาะจิ้งหรีด ตั๊กแตน และหนอน ซึ่งไม่เคยอยู่ในวัฒนธรรมการกินของชาวยุโรปมาก่อน แต่ในปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยม เนื่องจากได้รับการวิจัยว่าเป็นแหล่งโปรตีนสูงไม่ต่างจากเนื้อสัตว์อื่น ๆ จึงคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในตลาดอียู 

สำหรับกระบวนการขออนุญาตวางจำหน่ายอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ (novel foods) และอาหารท้องถิ่น (traditional foods) ที่นำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มสมาชิกอียูนั้น สามาถยื่นเข้าสู่กระบวนการพิจารณา โดยจะเป็นอาหารที่ค้นพบใหม่นอกภูมิภาคยุโรปหรืออาหารที่ผลิตขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น อาหารที่มีหรือประกอบด้วยสัตว์หรือชิ้นส่วนของสัตว์ อย่างเช่น แมลง วัตถุดิบที่มาจากแร่ จุลินทรีย์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อ สัตว์และพืช และอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม ส่วนอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายในภูมิภาคยุโรปก่อนวันที่ 15 พ.ค. 1997 (2540) แต่มีการบริโภคกันในภูมิภาคอื่นมาอย่างยาวนานมากกว่า 25 ปีขึ้นไป จะถูกจัดเป็น “อาหารท้องถิ่น” ก็ต้องขออนุญาตวางจำหน่ายตามกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน
และจะทบทวนใบอนุญาตทุก 5 ปี