
โควิด-19 ฉุดยอดส่งออกถุงมือยางไปจีน2 เดือนแรก ทะลุ 192% “สมาคมยางพาราฯ” เสนอรัฐกำหนดเป็นวาระแห่งชาติน้ำยางข้น หวังยกระดับโรงงานผลิตถุงมือแข่งมาเลเซีย รองรับการใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต คาดปี 2563 เพิ่ม 10% ทะลุ 3.3 แสนล้านชิ้น
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19ในภาพรวมการส่งออกถุงมือยางของไทยในช่วง 2 เดือนแรก 2563 มีมูลค่า6,355 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.97% โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 2 สัดส่วน 6.46% มีอัตราเติบโตถึง 192% คิดเป็นมูลค่า 410.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่ส่งออกมากที่สุด คือ บริษัท คาร์ดิแนล เฮลท์ 222 (ประเทศไทย), บริษัท เซฟสกินเมดดิคอล แอนด์ ไซเอนทิฟิก(ประเทศไทย), บริษัท แอนเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เมอร์กาโต้ เมดิคัล (ไทยแลนด์) จำกัด
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ 1 ธ.ค.นี้ เครดิตบูโรห่วงกู้ซื้อ “รถ-บ้าน” ค้างจ่ายพุ่ง
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
สอดคล้องกับนายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหารและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA กล่าวว่าแนวโน้มตลาดถุงมือยางโลกปี 2563 มีโอกาสจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จาก 3 แสนล้านชิ้น เป็น 3.3 แสนล้านชิ้น ผลจากความต้องการถุงมือยางสำหรับใช้ทางการแพทย์หลังจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงความต้องการใช้ในทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการความปลอดภัยเพราะเป็นเรื่องไฮจีนิก ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน หรือบริษัททั่วไปก็ใช้ถุงมือทั่วไป จะมีการเปลี่ยนถุงมือบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ดีมานด์เพิ่มขึ้นมาก ทางศรีตรังฯได้รับออร์เดอร์ และเพิ่มกำลังการผลิต 100%
“หลังจากรวมกับไทยกองเราผลิตถุงมือได้ 28,000 ล้านชิ้น ปัจจุบันเราขยับจากอันดับ 5 เป็นอันดับ 3 ของโลก กำลังผลิตได้ถึง 30,000 ล้านชิ้น หรือมากสุด 33,000 ล้านชิ้น แต่ด้วยช่วงห่างระหว่างอันดับ1-2 ค่อนข้างห่างมาก ยิ่งถ้าเบอร์ 1 ใช้เวลา 10-15 ปี มีโอกาสแซงทัน”
นายวรเทพ วงศาสุทธิคุณ อุปนายกสมาคมยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสถานการณ์โควิดส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ส่งออกน้ำยางข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง แม้ว่าปัจจุบันจะสามารถใช้ยางสังเคราะห์ได้ แต่ยางธรรมชาติยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างมาเลเซียที่หันพึ่งพาวัตถุดิบน้ำยางข้นจากไทย เพื่อผลิตถุงมือยางส่งออกในกลุ่มเวชภัณฑ์รายใหญ่ของโลก เรื่องดังกล่าวอยากให้รัฐบาล “กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ”
เข้ามาสนับสนุนภาคเอกชนไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลิตถุงมือยางที่สามารถแข่งขันกับมาเลเซียให้ได้ เพราะไทยมีวัตถุดิบพร้อมอยู่แล้ว อยากให้กำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้ถุงมือจากยางธรรมชาติมากขึ้น เพราะย่อยสลายได้ง่าย
“ปัญหาโควิดส่งผลต่ออุตสาหกรรมยางทั้งบวกและลบ โดยผลกระทบทางลบกับกลุ่มผู้ผลิตยางแผ่นและยางแท่งที่นำไปใช้ผลิตยางล้อ เมื่อโควิดทำให้ธุรกิจการขนส่งหยุดชะงัก และโรงงานผลิตรถยนต์ปิด ความต้องการใช้ก็ลดลง เรื่องนี้ต้องติดตาม สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าหลังจากนี้ทั่วโลกจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง”
ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตถุงมือยางมีสัดส่วนเพียง 35% เท่านั้น จากเดิมการผลิตถุงมือยางธรรมชาติมีสัดส่วนถึง 80% ถุงมือจากยางสังเคราะห์ 20%
นายสุเทพ เดชานุรักษ์ อุปนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า การส่งออกน้ำยางข้นไปมาเลเซียแต่ละเดือนสูงถึง5 หมื่นตัน หรือ 55% ของการส่งออกน้ำยางข้นของไทย 1.1 แสนตันต่อเดือน การปิดประเทศจึงส่งผลให้สต๊อกน้ำยางของมาเลเซียขาดแคลน ขณะที่ออร์เดอร์ถุงมือยางของไทยทุกโรงงานมีเต็มยาวถึงสิ้นปี และทุกโรงงานต้องเพิ่มกำลังการผลิตเต็มที่เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการปรับปรุงโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตให้ไทยมีศักยภาพ สามารถแข่งขันกับมาเลเซียให้ได้ เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่คาดว่าความต้องการใช้ถุงมือยางจะมีมากขึ้นแน่นอน สังเกตได้จากอัตราการใช้ถุงมือยางต่อคนในแต่ละประเทศ อาทิ สหรัฐ 75 คู่ต่อคนต่อปี จีน 5 คู่ต่อคนต่อปี ส่วนอินเดีย 2 คู่ต่อคนต่อปีเท่านั้น
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากโควิดระบาดในมาเลเซีย และประกาศปิดประเทศส่งผลต่อการขนส่งยางพาราผ่านเส้นทางบกไปยังมาเลเซีย เพื่อไปลงที่ท่าเรือปีนัง ทำให้การส่งออกของไทยหยุดชะงัก แต่เนื่องจากมาเลเซียเป็นผู้ผลิตถุงมือยางมากที่สุดในโลก การปิดประเทศทำให้วัตถุดิบน้ำยางข้นขาดแคลน เพราะทั้งหมดต้องนำเข้าจากไทยเป็นหลัก ปัจจุบันมาเลเซียได้ยอมเปิดด่านนำเข้าให้กับไทยแล้ว จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งการส่งออกให้มากขึ้น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการดังกล่าว
“ความต้องการน้ำยางข้นที่มากขึ้น ฟังดูเหมือนไทยมีอำนาจต่อรองด้านราคา แต่ในภาพรวมต้องดูราคาในตลาดประกอบด้วย แต่ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันคิดว่า ที่สุดแล้วไทยจะกำหนดราคายางได้”
นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า โอกาสการส่งออกน้ำยางถือเป็นโอกาสในวิกฤต แต่เพื่อให้ราคายางมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน รัฐบาลพยายามเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่มีการใช้อยู่ 6 แสนตัน เพิ่มเป็น 8 แสนตัน ถือว่าประสบผลสำเร็จ แต่เป้าหมายปี”63 อยากให้เพิ่มการใช้ในประเทศเป็น 1 ล้านตัน ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ และจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไปเพราะเป็นทางเดียวที่ไทยจะสามารถบริหารจัดการราคายางในประเทศได้