โควิดทุบจีดีพีเกษตร Q1 หดตัว 4.8% ลุ้นตุนอาหารดันยอด “ข้าว-มัน-หมู” ฟื้น

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 อาจหดตัวลดลงเหลือเพียง 0.3% หรืออยู่ในช่วง 0.2-0.8% ต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยประเมินไว้ในช่วงปลายปี 2563 ว่าจะขยายตัว2.0-3.0%

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 (มกราคม-มีนาคม 2563) หดตัว 4.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2562 ที่ขยายตัว 0.5% ผลจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาวะการค้า การเดินทาง และการขนส่งกระจายสินค้า ซึ่งจะกระทบผลผลิตผลไม้ที่จะมีการผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด (peak) ปลายไตรมาส 1 และจะเริ่มฤดูกาลซื้อขายในช่วงไตรมาส 2 ประกอบกับราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้ราคายางพาราและราคาพืชพลังงานทดแทนไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มาก

รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ผันผวน อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าลดลง ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ เช่น ประมงซึ่งปีนี้คาดว่าไทยจะมีผลผลิตกุ้งทะเลได้ปริมาณ 3.25 แสนตัน แบ่งเป็นส่งออก 82.76% และบริโภคภายในประเทศ 17.24% แม้ว่าผลผลิตมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ แต่การส่งออกอาจกระทบ โดยเฉพาะตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป

ขณะที่การผลิตเนื้อไก่จะมีปริมาณ 2.88 ล้านตัน เป็นการบริโภคในประเทศ สัดส่วน 62.91% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด สำหรับสินค้าไก่เนื้อ ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ของตลาดในประเทศมีแนวโน้มลดลง สะท้อนกำลังซื้อและจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศลดลงอีก

นอกจากนี้ผลผลิตพืชสำคัญในปี 2563 มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน

ในทางตรงกันข้าม “ข้าว หมู และมันสำปะหลัง” ได้รับอานิสงส์จากที่ทั่วโลกมีความกังวลและตื่นตัวต่อสถานการณ์ จึงมีการกักตุนสินค้าเกษตรอาหารมากขึ้น โดยมีการนำเข้าสินค้าเพื่อสำรองไว้สำหรับความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ โดยเฉพาะข้าว ปี 2562/2563 คาดว่ามีปริมาณ 28.375 ล้านตันข้าวเปลือก น้อยกว่าความต้องการใช้ 32.48 ล้านตัน แบ่งเป็นการบริโภคภายในประเทศ 13.320 ล้านตันข้าวเปลือก ส่งออก 15.38 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งใช้ทำเมล็ดพันธุ์ 1.37 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้ในอุตสาหกรรม 2.4 ล้านตันข้าวเปลือกผลจากการกักตุนอาหารอาจช่วยให้ไทยส่งออกข้าวและสินค้าอาหารสำเร็จรูปโดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน(ready to eat) เพิ่มขึ้น ซึ่งการบริโภคภายในของไทยไม่ได้รับผลกระทบเพราะไทยมีสต๊อกที่ยกมาจากปีที่แล้วบางส่วนทำให้การบริโภคในประเทศมีเพียงพอ

ขณะที่ “สุกร” คาดว่าขยายตัวดี โดยการผลิตสุกรของไทยจะมีปริมาณ 1.68 ล้านตันส่วนใหญ่ใช้เพื่อบริโภคในประเทศ 92.86% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด แต่จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในไทยและประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีสุกรมีชีวิตจากการระบาดของโรค ASF ในต่างประเทศทำให้ยังคงมีความต้องการเพิ่ม

นอกจากนี้มันสำปะหลัง ปี 2563 คาดว่ามีผลผลิตมันสำปะหลัง 29.493 ล้านตันหัวมันสด ลดลง 5.11% จากปัญหาภัยแล้ง แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยเฉพาะมันเส้นดีขึ้น เพราะต้องนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกับกลุ่มถุงมือยาง อาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร แต่ก็เป็นที่น่าจับตามองว่า แม้ซัพพลายลดลง ดีมานด์เพิ่ม แต่ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ค่อนข้างทรงตัว


สำหรับปัจจัยเสี่ยงของภาคการเกษตรไทยปีนี้ต้องยอมรับว่า อาจจะขาดแคลนแรงงานเกษตร โดยเฉพาะภาคการทำประมง จากการปิดสถานประกอบการ และการที่แรงงานเดินทางกลับประเทศบางส่วนอาจจะกลับมาไม่ได้ เพราะติดปัญหาต้องเฝ้าระวังโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องประเมินสถานการณ์ต่อเนื่องว่าจะเป็นอย่างไร