“สุพันธุ์” ชงรัฐรับ 12 ข้อเสนอ ประคองจีดีพี-ต่อลมหายใจ SME

แฟ้มภาพ

ต่อลมหายใจธุรกิจ “สุพันธุ์” จี้รัฐพิจารณา 12 ข้อเสนอค้างจาก 34 ข้อเสนอภาคเอกชน หวังฟื้นธุรกิจ การจ้างงาน ประคองเศรษฐกิจไทยปี 2563 ก่อนติดลบหนัก 5% หวั่น SMEs เจ๊งระนาว กระทบการจ้างแรงงาน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะกรรมการภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)เปิดเผยว่า ตามที่ภาคเอกชนในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้รวบรวมมาตรการความช่วยเหลือทั้งด้านภาษี การเงิน แรงงาน สาธารณูปโภคและเสนอต่อทางภาครัฐ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูภาคธุรกิจจากภัยโควิด-19 จำนวน34 มาตรการไปแล้วนั้น ล่าสุดภาครัฐเห็นชอบตามข้อเสนอแล้ว 11 มาตรการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 11 มาตรการเหลือเพียง 12 มาตรการเท่านั้นที่ยังไม่รับเข้าไปพิจารณาและจำเป็นต้องผลักดันต่อไป

“หากรัฐสามารถทำตามข้อเสนอได้ ไม่เพียงจะทำให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นเร็วขึ้น แต่ยังจะส่งผลให้แรงงานไม่ถูกเลิกจ้างเพราะจากการประเมินเศรษฐกิจปี 2563 ที่คาดว่า GDP จะทรุดหนักโตติดลบ 5.0% ถึงติดลบ 3.0% ขณะที่ส่งออกจะหดตัวหนักมาก อยู่ที่ติดลบ 10.0% ถึงติดลบ 5.0% ดังนั้นรัฐจะต้องรับพิจารณามาตรการทั้งหมดที่เอกชนเสนอ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงมากกว่านี้ ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าอีก 12 ข้อเสนอนั้น รัฐจะตอบสนองอย่างไร”

สำหรับมาตรการที่เหลืออีก 12 ข้อ เช่น ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน15,000 บาท โดยขอให้รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและยังมีการผลิตอยู่บางส่วน, ปรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายทุกประเภทเป็นอัตราเดียวคือ 1% เฉพาะปี 2563 ขอให้คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ใช้มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 50 แอมป์ เพื่อจะได้นำมาเป็นเงินหมุนเวียนธุรกิจช่วงวิกฤต, ชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป 1 ปี ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยกเว้นค่าเบี้ยประกันทุกประเภทในช่วงที่ธุรกิจปิดให้บริการ, สถาบันการเงินปรับลดระยะเวลาพิจารณาประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโรจาก 3 ปี เหลือ 1 ปี รวมถึงให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) และให้เพิ่มแต้มต่อสำหรับธุรกิจ SMEs และขอขยายสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐออกไป 4 เดือน เป็นต้น โดยจะต้องเร่งให้รัฐรับพิจารณาให้ได้

ส่วนข้อเสนอ 11 ข้อเสนอ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาจากภาครัฐ คือ 1.ให้กรมสรรพากรเร่งรัดการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนที่ชำระเกินภายใน 30 วัน 2.ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ SMEs 3 ปีทุกธุรกิจ (ปีภาษี 63-65) โดยจะต้องเข้าระบบ e-Filling 3.ขยายเพดานค่าลดหย่อนภาษีการกุศลของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ในปี 2563 โดยไม่จำกัดเพดาน 4.ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกันโควิด-19 5.ให้ภาคเอกชน ผู้ให้เช่าสถานที่ นำส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการที่ให้กับ SMEs มาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า  6.ให้ขยายระยะเวลาการใช้ “ขาดทุนสุทธิที่ปรับปรุงตามประมวลรัษฎากร” จากยกมาไม่เกิน5 รอบ เป็น 7 รอบ

7.บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานในช่วงโควิด หักภาษีได้ 3 เท่า ระยะเวลา 3 เดือน โดยขอให้เทียบกับเดือน มี.ค. 63 (จากเดิมที่สรรพากรกำหนดเดือน ธ.ค. 62) 8.ขอให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในการจัดตั้ง private equity trust ภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. โดยเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจโรงแรมที่มีปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้  9.ขอให้ยกเลิกการคิดไฟฟ้าตามเกณฑ์การใช้กระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ (demand charge) จนถึงสิ้นปี 2563 โดยคิดเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง 10.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) 11.อนุญาตให้ปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ ในอัตรา 40-41 บาท/ชม. โดยจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชม.

ส่วนข้อเสนอและมาตรการภาครัฐยอมรับและประกาศไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย 1.ให้กรมสรรพากรเร่งรัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนที่ชำระเกินภายใน 30 วัน 2.ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและสัมมนา 3.ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน 4.ผ่อนผันการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ (work permit) รวมถึงแรงงานต่างด้าวไป 6 เดือน 5.กรณีเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ยังคงรักษาสถานภาพไว้เป็นการชั่วคราว แม้ว่านายจ้างหรือลูกจ้างจะหยุดส่ง หรือจ่ายสมทบเป็นการชั่วคราว


6.ปรับลดค่าไฟฟ้าลง 5% ทั่วประเทศ และขอให้ค่า Ft สะท้อนราคาน้ำมันที่ลดลง 7.ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟออกไป 4 เดือน 8.ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี”63 9.สินเชื่อที่รัฐให้เพิ่มสภาพคล่อง ขอให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80% 10.ขอให้ธนาคารพาณิชย์และรัฐ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิม ให้ลดเพิ่มจาก 0.4% เป็น 1% และ 11.สนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานประเมินความเสี่ยงตัวเองโดยใช้ application เช่น หมอชนะ