จับตายุ่นย้ายโรงงานออกจากจีน “China Plus One” จี้รัฐดึงลงทุนเข้าไทย

file Photo : STR / AFP / China OUT

ญี่ปุ่นเดินหน้านโยบาย China Plus One อัดเงินหนุนเอกชนกระจายฐานผลิตหนีโควิดจากจีนเข้าอาเซียน ผู้ประกอบการนิคมอุตฯประสานเสียงจี้รัฐวางหมากรับลงทุน ทั้งออกแพ็กเกจพิเศษ พร้อมปรับกฎระเบียบหนุนลงทุน digital health technology กรีนการ์ดผู้เชี่ยวชาญดึงอุตสาหกรรมแพทย์เข้าไทย เพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษี

แหล่งข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เครือข่ายห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างจีนต้องหยุดชะงักลง ล่าสุด “รัฐบาลญี่ปุ่น” ได้เปิดตัวโครงการเงินอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมให้บริษัทย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามยุทธศาสตร์ “China Plus One” โครงการดังกล่าวมีวงเงินอุดหนุนราว 23,500 ล้านเยน หลังจากที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้รับความเสียหายอย่างหนักเนื่องจากพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีนมากเกินไป โดยเฉพาะการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนคิดเป็น 36.9% ของการนำเข้าของญี่ปุ่นในปี 2019 นำเข้าชิ้นส่วนโทรศัพท์จากจีนก็คิดเป็น 85.5% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของญี่ปุ่น หรือแม้แต่หน้ากากอนามัยจากจีน 80% FDI ทะลักอาเซียน

“กระบวนการย้ายฐานการผลิตจะต้องใช้เวลาและเงินลงทุนสูง คาดว่าจะมีผู้ผลิตเพียงบางรายที่สามารถย้ายฐานผลิตได้ทันที แต่ในอนาคตอาจจะมีจำนวนบริษัทที่มีความพร้อมย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนรวมถึงไทยมากขึ้น ซึ่งจะเกิดการจ้างงานมากขึ้นและส่งผลเชิงบวกต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง”

โดยขณะนี้การลงทุน FDI จากต่างชาติหลั่งไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียนจำนวนมาก อาทิ ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ในกัมพูชาได้มีนักลงทุนจาก 8 ประเทศประกอบด้วยจีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม และนิวซีแลนด์เข้าไปลงทุน โดยนักลงทุนจีนเป็นอันดับ 1 มีโครงการได้รับอนุมัติ 31 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 68.88% ของสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด มูลค่าเงินทุนถึง 45.138 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งการผลิตเสื้อผ้ากระเป๋า รองเท้า และโรงพยาบาล

ส่วนในเมียนมามีการลงทุน FDI ช่วง 6 เดือนแรกปีงบฯเมียนมา (ต.ค. 62-มี.ค. 63) ที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC) แล้ว มูลค่า2,730.565 ล้านเหรียญสหรัฐ มีฮ่องกงลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 มูลค่า 1,327.503 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 48.6%ในกิจการเช่น พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการผลิต น้ำมันและก๊าซแนะจัดแพ็กเกจพิเศษ

ในส่วนของไทย นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เราเห็นสัญญาณการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีฐานการผลิตในจีนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะมีการขยายการลงทุนเข้ามาในกลุ่มอาเซียน CLMV โดยเราได้รับการติดต่อจากลูกค้าเพื่อสอบถามถึงประเด็นต่าง ๆ จนถึงขณะนี้มองว่าเป็นจังหวะที่รัฐบาลจะต้องเร่งทำแพ็กเกจพิเศษสำหรับดึงการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์โดยโฟกัสไปที่กลุ่มdigital health technology เช่น การ

ให้บริการการแพทย์ทางไกล (tela medical)การใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์จากเดิมที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ขยายมาตรการส่งเสริมไปยังกลุ่มผู้ผลิตหน้ากาก ชุด PPE ไปก่อนหน้านี้

“ในภาวะโควิด-19 เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลมีแนวโน้มเติบโตดี และมีความสำคัญมากขึ้น แต่ไทยต้องปลดล็อกกฎระเบียบบางอย่าง เช่น ระเบียบของแพทยสภาเพื่อให้สามารถดำเนินการรักษาทางไกลได้ ซึ่งจากที่ทราบข้อมูลทางรัฐบาลจีนได้มีการส่งเสริมการลงทุนเรื่องนี้ โดยได้แก้กฎระเบียบไปแล้วเมื่อปี 2015 เพราะเริ่มมีการใช้ระบบ AI ทางการแพทย์มากขึ้น หากไทยออกแพ็กเกจพิเศษก็จะถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนสามารถจะลงทุนได้มาก โดยคาดว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายและมีการปลดล็อกธุรกิจการบินกลับมา จะมีนักลงทุนเดินทางเข้ามามากขึ้นอย่างแน่นอน”

อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการนิคมได้ทำหนังสือถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เพราะขณะนี้กลุ่มโรงงานได้รับผลกระทบต้องหยุดผลิตบางส่วน 4-6 เดือน

บอร์ด กนอ.ลดค่าบริการจูงใจ

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการกนอ. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะนำเรื่องการลดค่าบริการ ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภคให้กับผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เสนอต่อบอร์ดพิจารณา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ว่าจะปรับลดในอัตราเท่าไร อาจจะเป็นไปตามที่ภาคเอกชนเสนอเข้ามาหรืออัตราอื่นก็ได้

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบัน กนอ.เก็บค่าธรรมเนียมผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอกชนเป็นรายปี และเก็บค่าเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง ซึ่งทั้ง 2 ส่วนอยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าบอร์ด กนอ.พิจารณาลดค่าธรรมเนียม 10-20% เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรืออาจนานกว่านั้นเป็น 6 เดือน จากผลกระทบโควิด-19

นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีบริษัทน่าจะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานของญี่ปุ่นพอสมควร เนื่องจากจำนวนลูกค้าญี่ปุ่นในนิคมและสวนของโรจนะมีสัดส่วนถึง 70%ของพื้นที่ทั้งหมด และปัจจุบันทางบริษัทได้มีการพัฒนาพื้นที่โครงการในพื้นที่ EECเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่สนใจประมาณ 4,000 ไร่ อาทิ โรจนะ แหลมฉบัง, โรจนะ ชลบุรี บ่อวิน 2 และโรจนะ หนองใหญ่

“มาตรการ BOI ปัจจุบันครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว แต่ถ้าภาครัฐต้องการดึงดูดนักลงทุนมากขึ้นก็ควรพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และร่นระยะเวลาในการอนุมัติคำขอให้สั้นขึ้นน่าจะเป็นการช่วยให้ขั้นตอนการลงทุนสำเร็จเร็วขึ้นอีกด้วย”