โรงสีขาดสภาพคล่อง แห่ขายทิ้ง แตกไลน์ทำข้าวถุง-ส่งออก

ข่าวโรงสี

หมดยุคจำนำข้าว “โรงสี” อ่วมหนี้-ขาดสภาพคล่อง แห่ประกาศเทขายผ่านโซเชียลยกเซตทั้งอาคาร-เครื่องจักร-อุปกรณ์ ถึงยุคซันเซต อยู่ในแหล่งปลูกข้าวหลัก “อุบล-ชัยนาท-สุพรรณ-นครสวรรค์” ยังไปไม่รอด ยอดลดฮวบจาก 3 หมื่นโรง เหลือแค่ 300 โรง ส.โรงสีข้าวไทยชี้แข่งเดือด หนีตายแตกไลน์ “ส่งออก-ค้าข้าวถุง-พลังงาน” สร้างรายได้เพิ่ม เผยแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง

หลังรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ และปรับเปลี่ยนโยบายข้าวจากการรับจำนำสู่การประกันรายได้มานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557ส่งผลให้ธุรกิจโรงสีข้าวที่เคยเฟื่องฟูเมื่อครั้งเข้าร่วมรับจ้างสีแปรสภาพข้าวให้รัฐบาลภายใต้โครงการรับจำนำ มีผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เพิ่มกำลังการผลิตสูงถึง 30,000 โรง เกินกว่ากำลังการผลิตข้าวเปลือกที่ปลูกแต่ละปีถึง3 เท่า กลายเป็น “ธุรกิจซันเซต” ต้องปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ล่าสุดหลายโรงสีมีปัญหาสภาพคล่อง ต้องประกาศขายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีจำนวนโรงสีที่ต่อทะเบียนตาม พ.ร.บ.ค้าข้าว 1,000 โรงอยู่ในสมาคมโรงสีข้าวไทย 600-700 โรง แต่ประกอบธุรกิจจริง ๆ เพียง 300-400 โรง ลดลงจากปี 2558-2559 ที่เคยมีโรงที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน กว่า 1,400 โรง หรือหากดูตัวเลขจากใบ รง.4

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม 30,000 โรง ถือว่าลดลงต่อเนื่อง หลังประสบปัญหาการแข่งขันรุนแรง ต้องแย่งซื้อข้าวเปลือกในราคาต้นทุนสูง แต่ปลายทางแคบต้องแย่งขายให้กับผู้ส่งออก ซึ่งก็มีสัดส่วนน้อยเพียงไม่กี่รายในราคาต่ำ ทำให้กำไรส่วนต่างลดลง จึงเหลือเฉพาะโรงสีขนาดใหญ่ที่ส่งออกข้าว หรือทำข้าวถุงขายในประเทศควบคู่กัน ส่วนรายที่อยู่ไม่รอดก็ประกาศขาย แม้จะขายยากเพราะเป็นธุรกิจซันเซตไม่มีใครต้องการซื้อ

โรงสีภาคอีสาน-กลางแห่ขาย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจพบว่ามีการประกาศขายโรงสีและอุปกรณ์จำนวนมาก มีทั้งโรงสีที่อยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ เช่น จ.อุบลราชธานี ประกาศขายโรงสีขนาดใหญ่ พื้นที่ 29 ไร่ กำลังการสี 500 ตัน/วัน โกดังเก็บข้าวได้ 20,000 ตัน/วัน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องราคา 300 ล้านบาทผ่าน www.property99.net ในจ.ชัยนาท มีการประกาศขายโรงสีขนาดใหญ่พื้นที่ 114 ไร่ รวมลานตาก โกดัง รถยก เครื่องมือต่าง ๆ ราคา 600 ล้านบาท ผ่าน www.dotproperty.co.th จ.นครสวรรค์ ประกาศขายโรงสีขนาด 400 เกวียน/วันรวมอุปกรณ์ และรถยกผ่านเว็บ ขายดี.คอมขายโรงสี จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ 37 ไร่ กำลังการผลิต 200-400 ตัน/วัน ราคา 300 ล้านบาท

แตกไลน์หนีแข่งเดือด

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิก 656 ราย โดยรวมแล้วยังคงประกอบกิจการโรงสีข้าวอยู่ แต่ยอมรับว่าผู้ประกอบการโรงสีข้าวส่วนใหญ่ได้ขยายธุรกิจเพิ่มเติม จากเดิมที่ประกอบกิจการโรงสีข้าวเพียงอย่างเดียว เช่น ขยายทำธุรกิจส่งออกข้าว ผลิตข้าวถุงขายในประเทศ เป็นพันธมิตรกับผู้ส่งออก เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ หรือแม้กระทั่งการประกอบกิจการด้านพลังงาน เช่น โซลาร์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น เพราะหากจะดำเนินกิจการโรงสีข้าวเพียงอย่างเดียว ขณะนี้แข่งขันกันรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากทำกิจการโรงสีข้าวเพียงอย่างเดียวต้องแข็งแกร่งจริง ๆ มิฉะนั้นจะอยู่ยาก

ตลาดเปลี่ยน-ราคาผันผวน

กระแสการประกาศขายกิจการโรงสีข้าวถือเป็นสถานการณ์ “ปกติ” เพราะมีทั้งที่ตั้งใหม่และเลิกกิจการ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ การปรับตัวของธุรกิจ เพราะหากยังแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้สวนทาง ภาระหนี้ย่อมมีปัญหา ต้องยอมรับว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกิจการโรงสีข้าวเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินลำบากมากขึ้น เพราะความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ต่างจากอดีตที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่าย ไม่เข้มงวดเช่นปัจจุบัน ที่สถาบันทางการเงินมองว่าธุรกิจโรงสีข้าวมีความเสี่ยง ทำให้เงินหมุนเวียนในธุรกิจโรงสีข้าวมีปัญหา และส่วนใหญ่โรงสีซื้อข้าวโดยจ่ายเงินทันที แต่ขายข้าวเป็นรูปแบบเชื่อ ต้องใช้เครดิตรอ 30 วันในการจ่าย

“เงินหมุนเวียนมีความสำคัญในการประกอบธุรกิจ ถ้าไม่ได้สีข้าว ต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งแต่ละโรงจะใช้หลัก 6-7 แสนบาท จนถึง 1-2 ล้านบาท ปัจจุบันมีการแข่งขันสูง แต่ช่องทางรายได้แคบลง แม้ข้าวจะเป็นสินค้าจำเป็น ทุกคนต้องซื้อบริโภค ขายข้าวได้ตลอด แต่ราคามีการปรับขึ้น-ลงตลอด ตามความต้องการของตลาดและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น-ลดลง ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ปัจจุบันการตลาดไม่เหมือนในอดีต ราคาต้องอ้างอิงจากราคาต่างประเทศด้วย โรงสีบางรายขาดทุนมาตั้งแต่ 7-8 ปีก่อน ช่วงที่ราคาข้าวลดลงต่อเนื่อง 30-40% ทำให้ข้าวที่สต๊อกช่วงขาดทุน หลายรายขาดทุนสะสม หรือบางรายทำเลที่ตั้งไม่เหมาะสม ไม่มีข้าวเข้าก็ต้องเลิกกิจการ”

โควิดไม่กระทบ

ส่วนปัญหาโควิด-19 ไม่ได้กระทบโรงสีโดยตรง และช่วงนี้ผลผลิตออกหมดแล้ว เป็นช่วงที่ชาวนาเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปี ซึ่งตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่ามีพื้นที่ปลูกข้าว 60 ล้านไร่ ส่วนปริมาณผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากเกิดภัยแล้งปริมาณผลผลิตอาจลดลง และต้องรอติดตามสถานการณ์ฝนว่าจะเป็นอย่างไร

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า กลุ่มโรงสีข้าวเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางสถาบันการเงินจึงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่างและมีความไม่แน่นอน เช่น ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไม่พัฒนาคุณภาพ ไม่ลดต้นทุน ประกอบกับได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ขาดสภาพคล่อง ส่วนใหญ่พบว่าช่วงภัยแล้ง ผลผลิตออกมาน้อย เช่น จากเดิมปลูกข้าวนาปรังได้ 3 ครั้ง ปัจจุบันเหลือเพียง 1-2 ครั้ง ผู้ประกอบการโรงสีข้าวที่ใช้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจึงขาดสภาพคล่อง รายได้ไม่เพียงพอชำระหนี้

ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ การปล่อยสินเชื่อโรงสีข้าวยังเป็นปกติ เน้นสนับสนุนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนในสัดส่วนมากกว่าสินเชื่อเพื่อการลงทุน ซึ่งจะเบิกใช้ตามผลผลิตข้าว หากผลผลิตน้อย การเบิกใช้วงเงินจะน้อย ผลผลิตเยอะการใช้วงเงินจะสูงขึ้น ทำให้ไม่มีปัญหา ประกอบกับสัดส่วนพอร์ตโรงสีข้าวของธนาคารมีอยู่ไม่มาก

แจ็กพอตซ้ำโดนกดราคา

ด้านนางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SMEs ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารมีพอร์ตลูกค้าโรงสีข้าวเหลือค่อนข้างน้อย วงเงินสินเชื่อราว 150-200 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีที่มีอยู่ราว 2.3 แสนล้านบาท เนื่องจากเป็นธุรกิจมีความเสี่ยงธนาคารพยายามลดพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้ลง ไม่เน้นปล่อยให้ลูกค้ารายใหม่ ส่วนพอร์ตที่เหลือคงค้างจะดูแลช่วยเหลือลูกค้าเต็มที่ ทั้งการให้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เสริมสภาพคล่องและกระแสเงินสด หากมีปัญหาจะยืดอายุการชำระหนี้ให้

นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM เปิดเผยว่า สถานการณ์เทขายทรัพย์ที่เป็นโรงสีข้าว ของสถาบันการเงินและผู้ประกอบการห็นสัญญาณแรงเทขายต่อเนื่องทุกปี ระดับราคาตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท ซึ่งบริษัทรับซื้อเข้ามาอยู่ในพอร์ตบ้าง แต่เป็นทรัพย์รอการขาย (NPA) แต่ขายออกค่อนข้างยาก ทำให้ต้องปรับแผนกลยุทธ์การขายมาเป็นการเช่าแทน และไม่เน้นซื้อเข้ามามากนัก


การรับซื้อทรัพย์ที่เป็นโรงสีข้าวนั้น บริษัทจะคำนวณความเป็นไปของการกลับมาของธุรกิจภายใน 5 ปี เพื่อพิจารณาราคาที่เหมาะสม มีอยู่ 2 ประเภท 1.โรงสีรุ่นเก่า ที่ผ่านมาหลายรุ่นหลายยุค เครื่องจักรไม่ทันสมัย อาคารเป็นไม้ ราคารับซื้อจะถูกกดส่วนลด (discount) เหลือเพียง 20-30% โดยเครื่องจักรไม่ถูกประเมินราคา แต่ที่ดินจะให้ราคาตามตลาด 2.โรงสีรุ่นใหม่ จะมีมูลค่ามากขึ้น เนื่องจากอาคารนำไปพัฒนาเป็นโกดัง หรือคลังกระจายสินค้าได้ แต่จะรับซื้อราคาจะไม่สูงมาก