“ธรรมนัส” ปัดไม่ได้สั่ง อ.ต.ก.ขอโครงการพิลึก 14,500 ล้านใช้สินค้าเกษตรแลกห้องพัก ยันไม่ใช่นโยบาย แต่เล็งอัดฉีดหมื่นล้าน สั่งการ 4 กรม เสริมรายได้เกษตรกร ชูโปรเจ็กต์นวัตกรรมเพิ่มพื้นที่ชลประทานสร้างน้ำบ่อจิ๋ว โซลาร์ชุมชน หนุนแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์
จากกรณีที่ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563เพื่อหารือถึงแผนการดำเนินโครงการ
“ไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย” โดยเสนอให้ใช้สินค้าเกษตร ทั้งพืชผัก/ผลไม้/ผลไม้แปรรูป-ข้าวสาร-ที่นอน-หมอนยางพารา และสินค้า OTOP ตีราคาเป็นมูลค่าเพื่อแลกเปลี่ยนห้องพักในโรงแรมอัตราครึ่งต่อครึ่ง จำนวน 10 ล้านห้อง และจ่ายเงินเป็นค่า “ส่วนลด” ตั๋วเครื่องบินโดยสารให้กับประชาชน รวมมูลค่า 14,500 ล้านบาท
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ได้รับรายงานโครงการของ อ.ต.ก.แต่อย่างใด และผมต้องไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แนวคิดที่ผมจะให้ อ.ต.ก.ขับเคลื่อนจะเป็นเรื่องการกระจายสินค้าหรือหาตลาดใหม่ ๆ เน้นขยายช่องทางออนไลน์รูปแบบแพลตฟอร์มเดิม ๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพให้น่าสนใจขึ้น นั่นเป็นแนวคิดที่ดีกว่า และต้องเพิ่มพื้นที่ร้านค้า อ.ต.ก.ในภูมิภาค (มินิ อ.ต.ก.) ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
โดยขณะนี้มอบให้หน่วยงานในกำกับดูแล 4 กรม อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และอ.ต.ก. จัดทำแผนโครงการของบฯ ภายใต้กรอบการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอโครงการผ่านงบประมาณ1 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด แบ่งเป็น กรมพัฒนาที่ดิน โครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กมากกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ
เบื้องต้นพื้นที่ 200 ไร่ บ่อละ 80 ล้าน งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท มุ่งเน้นเพิ่มพื้นที่บ่อกักเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่ซึ่งต้องผ่านการแก้ไขกฎระเบียบราชการให้สามารถเพิ่มพื้นที่ขนาดแหล่งน้ำเทียบเท่ากับแหล่งน้ำขนาดใหญ่พื้นที่ชลประทาน นำมาพัฒนาเป็นเกษตรแปลงใหญ่ มีนวัตกรรม รักษาคุณภาพดินร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร จ้างงานเกษตรกร 2.ส.ป.ก.เตรียมโครงการขุดบ่อบาดาลโซลาร์เซลล์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยการขุดบ่อบาดาล เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำทำการเกษตร 6,000 บ่อ งบประมาณ 2,600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ
แหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน 3.อ.ต.ก.เตรียมโครงการแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ โดยจะพัฒนารูปแบบเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพให้ตรวจกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาจำหน่าย เป็นการสร้างช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ประชาสัมพันธ์สินค้าที่ผลิตภายใต้แบรนด์ อ.ต.ก. รวมถึงเพิ่มพื้นที่ตลาด อ.ต.ก.ให้ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ อยู่ระหว่างหารือแผนโครงการ และ 4.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โครงการสร้างกำลังพล จัดซื้ออากาศยานเข้ามาทดแทนที่เสื่อมสภาพ อยู่ระหว่างทำแผนโครงการเช่นกัน
นอกจากนี้มั่นใจว่ากว่า 1 ปีที่เข้ารับตำแหน่งได้ทำหน้าที่และมีผลงาน โดยเฉพาะการจัดสรรเรื่องที่ดินทำกินจากผลสำรวจพื้นที่ ส.ป.ก. ในเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่ปัจจุบันที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้ว เช่น พื้นที่ที่เป็นรีสอร์ต โรงแรม แหล่งชุมชน และเหมืองแร่ ทั้งหมดนี้มีนโยบายจะยึดคืน แล้วปรับให้เป็นพื้นที่เช่า โดยจะพิจารณาตามแต่ละกรณี เพื่อนำค่าเช่าเข้ากองทุนปฏิรูปที่ดิน ที่มีวงเงินขณะนี้ ประมาณ 4,000 ล้านบาท แล้วนำเงินเหล่านั้นไปปรับโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรเพื่อต่อยอดโครงการแปลงใหญ่
โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเช่าที่ลักษณะดังกล่าว จะต้องปรับแก้กฎหมายให้ ส.ป.ก. เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ประกอบกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ออกร่างกฎกระทรวงเพื่อเปิดทางให้ ส.ป.ก.สามารถดำเนินการได้แล้ว ดังนั้น จึงเห็นควรหยิบยกมาเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป โดยเริ่มจากการยึดพื้นที่คืน ซึ่งสามารถทำได้ทันทีตามคำสั่งกระทรวงเกษตรฯเพื่อให้ ส.ป.ก.ออกประกาศยึดคืน รวมไปถึงพื้นที่เหมืองแร่ ปัจจุบันพบว่าเอกชนที่ขอสัมปทานเช่าที่ ส.ป.ก.
ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้ว แต่ตามกฎหมาย ส.ป.ก. กำหนดค่าเช่าไว้สูงมาก 40,000 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งภาคเอกชนต้องเช่าพื้นที่เป็นวงกว้างในบริเวณเหล่านั้นทั้งหมดเพื่อสำรวจสายแร่ บางรายพบสายแร่สั้น ๆ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่เช่าไว้ทั้งหมด จึงไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้น จึงจะปรับแก้กฎหมายลดค่าเช่าพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ให้ถูกลง สร้างความเป็นธรรมกับผู้เช่า ทั้งหมดนี้จะแก้กฎหมายเพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มเดินหน้าทันที เพื่อนำเงินที่ได้จากค่าเช่ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนในอีกทางด้วย
“หนึ่งปีในตำแหน่ง รมช.ทำงานเต็มที่ และทุกเรื่องที่ช่วยเหลือได้ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับทราบปัญหาของประชาชนผมลงพื้นที่เจอประชาชนตลอด ทำให้มีกำลังใจกลับมาตั้งหน้าตั้งตาช่วยชาวบ้าน เพราะเรารู้ว่าเขาต้องการเรา ต้องการความช่วยเหลือ หลายพื้นที่พิสูจน์ว่าเราสามารถช่วยชาวบ้านเหล่านี้ได้จริง ๆในขณะนี้เราก็พยายามกระตุ้นการจ้างงานช่วยเหลือเกษตรกรพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านโครงการต่าง ๆ”