5 แสนแรงงานการ์เมนต์ระทึก โรงงานจ่อปิดประกันสังคมเมินจ่าย 62%

แฟ้มภาพ (Photo by Nhac NGUYEN / AFP)

แรงงาน 5 แสนคนระทึก ประกันสังคมหยุดต่อมาตรการจ่ายชดเชยว่างงานสุดวิสัย 62% หมดเขต ส.ค.นี้ ส.อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ชี้ระส่ำแน่สมาชิก 2 พันโรงงานเพิ่งใช้สิทธิแค่ 5% คาดปิดโรงงานชั่วคราวเดือนหน้า หวังให้ทันเดดไลน์ใช้สิทธิประโยชน์ เอกชนตัดพ้อรัฐวางหลักเกณฑ์ไม่เอื้อให้สิทธิประโยชน์เท่าประกันสังคมกัมพูชา

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยจะรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องลดกำลังผลิตรวมถึงหยุดกิจการและเลิกจ้างไปแล้วไม่น้อยกว่า 55% โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงถึง 70% จากปัจจุบันซึ่งมีมูลค่าการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศรวม 400,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นส่งออกสัดส่วน 50% และตลาดภายใน 50% มีผู้ประกอบการด้านการผลิต 2,200 โรงงาน มีผู้ประกอบการค้าส่ง/ค้าปลีก 30,000 โรงงาน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสมาชิกส.อ.ท. เกี่ยวกับการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐพบว่ามีสมาชิกถึง 62.6% ที่ไม่ใช้มาตรการช่วยเหลือใด ๆเลย เพราะผลกระทบอาจจะเพิ่งเกิดขึ้น

ขณะที่อีก 15% มีการใช้มาตรการตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานจ่าย 75% ของค่าจ้างให้แรงงานชั่วคราว ขณะที่การใช้มาตรการตามมาตรา 33 ประกันสังคมชดเชยรายได้ให้กับที่หยุดงานชั่วคราว62% นั้น มีการใช้แค่ 5% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะมีข้อกำหนดว่าต้องหยุดงานเป็นเดือน ถ้าไม่ครบเดือนจะขอใช้สิทธิไม่ได้ ความหมายของประกันสังคมคือต้องไม่มีรายได้เลย

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาชิกได้มีการใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 33กับประกันสังคมไปเพียง 5% ยังเหลือ95% ยังไม่ได้ใช้สิทธิ เนื่องจากในช่วง4 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีคำสั่งลดลงได้ปรับไปผลิตหน้ากากอนามัยจากผ้าแทนในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยขาดแคลนหน้ากากอนามัย

จนถึงขณะนี้สถานการณ์เรื่องหน้ากากอนามัยดีขึ้นแล้ว ยอดการผลิตและจำหน่ายหน้ากากอนามัยจากผ้าลดลงกลับสู่ปกติ คาดว่านับจากเดือนสิงหาคมนี้ ผู้ผลิตจะได้รับผลกระทบและมีการปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อใช้สิทธิประกันสังคม แต่ก็เป็นจังหวะที่มาตรการดังกล่าวกำลังจะหมดอายุลงในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

“ทางสมาคมได้เสนอผ่านไปที่่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ไปถึงนายกรัฐมนตรี ในช่วง 4 เดือน มี.ค.-พ.ค. 2563 ช่วงที่ชุลมุนที่สุดรับสายลูกค้าวันละเป็นร้อยราย ตะลุมบอลหมด ในประเทศไทยผมว่าไม่มีโรงงานไหนไม่เย็บหน้ากาก ทั้ง 2-3 พันโรงงานเย็บหมด แต่ตอนนี้กลายเป็นวิกฤตดีมานด์หาย และหน้ากากอนามัยประเภทที่ใช้แล้วทิ้งก็ไม่ได้ขาดตลาดแล้ว”

“ราคาที่ตกลงมามากทำให้หลายอย่างไม่คุ้มจะทำ และรัฐบาลก็แจกสารพัดเต็มไปหมด ถ้าใครทำก็เป็นสต๊อก ฉะนั้นคนที่เย็บหน้ากากเดือนสิงหาคมจะหายไปหมด เป็นปัญหาที่ประกันสังคมจ่าย 62% จะหมดสิงหาคมไม่ได้ต่อ ถ้าโรงงานที่ผลิตไม่หยุดก็ไม่ได้ใช้สิทธิประกันสังคม ฉะนั้นต้องสั่งหยุดแล้ว ผมว่าหลายโรงงานสั่งปิด เพราะจะไม่มีงานทำไปอีกหลายเดือน”

หากเปรียบเทียบการให้มาตรการช่วยเหลือด้านประกันสังคม ยกตัวอย่างประเทศกัมพูชาจะกำหนดมาตรการเป็นขั้นบันได เช่น โรงงานหยุด 10 วัน รัฐบาลช่วยจ่ายชดเชย 40% โรงงานหยุด 20 วัน ช่วย 60% และถ้าหยุด 30 วัน ช่วย 100% แต่ระบบของไทยทำไม่ได้ ถ้าโรงงานจะใช้มาตรการช่วยเหลือจะต้องหยุดทั้งเดือนจึงจะได้ เพราะระบบซอฟต์แวร์ไม่ได้รองรับ เป็นที่สงสัยว่าทำไมกัมพูชามีซอฟต์แวร์ที่รองรับได้ถามว่าถ้ามีงาน 15 วัน หยุด 15 วันก็ไม่ได้ระบบประกันสังคมไม่จ่าย ตีกรอบแบบนี้ให้เลือกจะหยุด 30 วัน หรือไม่ได้สิทธิเลย

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่า สาเหตุที่ประกันสังคมต่อมาตรการส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนทางการเมือง ซึ่งในคณะกรรมการประกันสังคมที่มีปลัดเป็นประธานได้ประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อนและมีมติออกมาแล้วว่าจะไม่ต่อมาตรการ โดยอ้างว่าสถานการณ์คลี่คลาย และเอกชนหาข้ออ้างจะใช้เงินประกันสังคม ซึ่งข้อเท็จจริงคือเอกชนไม่ได้ขอเพิ่มแต่ขอขยายเวลา เงินก็ยังเป็นก้อนเดิม แต่ตอนนี้พวกเราจะตายอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำให้ธุรกิจรอด ต่อไปถ้าเศรษฐกิจกลับมาดีแล้วประกันสังคมจะเอาเงินมาจากไหน ถ้าไม่ทำให้ธุรกิจรอดจะมีใครที่ไหนมาจ่ายเงินให้คุณ ถามว่าเงินก้อนนี้เป็นของใครมันคือเงินของนายจ้าง-ลูกจ้างทั้งนั้น เมื่อถึงเวลาคุณกลับไม่มาช่วย

“เขาหาว่าทำไมเราไม่หยุดก่อนหน้านี้ก็เรามีงานเย็บหน้ากากอนามัย จะให้หยุดได้อย่างไร เย็บหน้ากากช่วยประเทศไม่ให้ขาดแคลน พองานเราหมดเราจะหยุด ตอนนี้จะใช้สิทธิก็ไม่ใช่ช่วยคุณ จะไปยกตัวอย่างธุรกิจโรงแรมได้อย่างไร เป็นคนละอุตสาหกรรม สถานการณ์ไม่เหมือนกัน ตอนนี้เขากลับมาเปิดธุรกิจ แต่เรากำลังจะปิดเดือนหน้า จะให้พวกเราทำอย่างไร จะมาคิดแบบเดียวกันหมดไม่ได้ และเราจะหาข้ออ้างไปใช้เงินได้อย่างไร เพราะปิดแล้ว 3 เดือน”

“ถ้าหวังว่าจะดึงคนจะกลับมาเหมือนเดิมไม่มีทางเลย เขาออกไปแล้วเขาไปทำที่อื่น จะหาคนเย็บผ้ากลับมาอีกเป็นเรื่องยากในสมัยนี้ ตอนนี้แรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีประมาณ2 แสนคน และสิ่งทออีก 2 แสน คาดว่าประมาณ 5 แสนคน ซึ่งแบ่งเป็นคนไทยกับต่างด้าวประมาณครึ่ง ๆ”