สุพันธุ์ มงคลสุธี ตีตั๋วต่อประธาน ส.อ.ท.มุ่งช่วย SMEs

การเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 หลังจากที่เลื่อนมาจากเดือนมีนาคมด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

หลายฝ่ายอาจมองว่าครั้งนี้ไม่หวือหวาเพราะมีชื่อยื่นหนึ่งเพียงผู้เดียว คือ”นายสุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท.ที่เพิ่งหมดวาระปี 2561-2563 ไป แต่ยังคงรักษาจนกว่าการเลือกตั้งจะสมบูรณ์ด้วยผลงานที่ผ่านมาและบทบาทการเชื่อมประสานระหว่างรัฐและเอกชนจนมีมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมออกมาจึงทำให้การต่อวาระครั้งที่ 2 นี้ เป็นที่น่าจับตามองเพราะเป็นจังหวะเวลาเดียวกับการส่งผ่านการบริหารงานของทีมเศรษฐกิจ ครม.ประยุทธ์ 2/1 สู่มือทีมเศรษฐกิจ ประยุทธ์ 2/2 “ประชาชาติธุรกิจ” ได้โอกาสสัมภาษณ์ “นายสุพันธุ์ มงคลสุธี”ถึงการขับเคลื่อน 45 อุตสาหกรรมครึ่งปีหลัง

กรรมการ 238 คนเสนอชื่อ

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ส.อ.ท.จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 อย่างเป็นทางการ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการ 238 คน ที่จะมาดำรงตำแหน่งในวาระปี 2563-2565 ตามระเบียบที่ถูกต้องของสภาอุตสาหกรรม หลังจากที่สมาชิกทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมได้เลือกประธานกลุ่มเสร็จสิ้นไปแล้วก่อนหน้านี้

กระบวนการต่อไป คือ กรรมการ 238 คน ต้องเลือกประธานสภาอุตฯ ในวันที่ 19 ส.ค.แทนตนที่ได้หมดวาระปี 2561-2563 ไปแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค. แต่ยังต้องทำหน้าที่ประธานต่อ เนื่องจากเป็นช่วงของการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุม ที่มีการรวมตัวกันของบุคคลจำนวนมากได้ การเลือกตั้งจึงต้องเลื่อนมา

“การทำงานในช่วงวาระที่ผ่านมานโยบายผมมุ่งเรื่องการช่วยเหลือสมาชิกปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 10,000 รายโดยเฉพาะสมาชิกและไม่ใช่สมาชิกที่เป็น SMEs รายเล็ก ๆเพราะปัญหาที่พบมาโดยตลอด คือเข้าถึงแหล่งเงินทุนการที่ตนได้ทำงานกับภาครัฐโดยตลอด ทำให้สามารถรวบรวมข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อให้รัฐเข้ามาช่วยและสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในช่วงเวลาปกติ และช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19อย่างหนักในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเช่น ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้3 เท่า กรณีใช้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและสัมมนา หรือจะเป็นการลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วันผ่อนผันการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ (work permit) รวมถึงแรงงานต่างด้าวไป 6 เดือน เป็นต้น”

ต่อลมหายใจ SMEs

“สิ่งที่ผมจะต้องดำเนินการต่อเนื่องคือ การผลักดันข้อเสนอต่าง ๆ จากปัญหาของภาคเอกชน เพื่อให้รัฐรับทราบและออกมาตรการมาช่วยเหลือโดยเฉพาะ SMEs รายเล็กถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ข้อเสนอหลักคือการขอให้รัฐผ่อนคลายหลักเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อสถาบันการเงิน ให้ SMEs รายใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับแบงก์ รวมถึงรายเก่าผ่อนคลายเรื่องหลักประกันเป็นการเปิดโอกาสให้ SMEs เหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้”

“หากรัฐช่วยเอสเอ็มอีได้โดยเร็ว เชื่อว่าการกลับมาของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น บวกกับปัจจัยที่ทางภาครัฐทยอยคลายล็อก การยกเลิกเคอร์ฟิว ทำให้ผู้ประกอบการเปิดดำเนินกิจกรรมได้มากขึ้น ขณะที่ด่านค้าชายแดนที่เริ่มผ่อนคลายทำให้สินค้าส่งออกได้ รวมถึงปริมาณการติดเชื้อลดลง ความเชื่อมั่นจึงเริ่มกลับมา จะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นเดือน มิ.ย.ที่เริ่มมีการปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.0 จากเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 78.4 ถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งมันจะส่งผลในครึ่งปีหลัง”

นอกจากนี้ ผมต้องเสนอรัฐผ่านเวทีของ ส.อ.ท.ด้วยการขอให้ทำระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ โดยการสนับสนุนการซื้อสินค้าที่มีการผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้สำเร็จให้ได้

อุตสาหกรรมครึ่งปีหลังฟื้น

ต่อให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่มันก็ยังคงต่ำกว่าระดับ 100 เพราะผู้ประกอบการเขายังมีความกังวลต่อสภาพคล่องการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะ SMEs รายเล็ก บวกกับปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งต้นทุนประกอบการสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งโลจิสติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

แน่นอนว่าบรรยากาศความน่ากังวลอีกอย่างถึง 50% คือเรื่องของการเมืองในประเทศ และมันจะมีเรื่องของอื่น ๆตามมา เช่น บรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอยลดลง หรือความอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศ ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และยังมั่นใจไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 จะกลับมาอีกหรือไม่

“ผมประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมครึ่งปีหลังกำลังฟื้นตัวในทิศทางที่ดีแต่ยังไม่เต็ม 100% ต้องอาศัยมาตรการจากทางภาครัฐเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากโควิด-19 เริ่มระบาดน้อยลงโดยเร็ว เพราะมันมีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าและในปี 2564 อย่างมาก”

อุตสาหกรรมดาวเด่น-ดาวร่วง

อุตสาหกรรมที่ถือเป็นดาวเด่นขณะนี้ คือ อุตสาหกรรมการแพทย์/เครื่องมือแพทย์สุขภาพ ยา อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหารเป็นโอกาสของไทยมาก แต่ที่น่าห่วงคือกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และที่ใช้แรงงานค่อนข้างมากซึ่งไม่เพียงผลจากโควิด-19 ยอดขายรถหด แต่มีเรื่องของค่าแรงที่จะเข้ามาทวีความรุนแรงจนทำให้ต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง ดังนั้น สมาชิกจะต้องปรับตัวให้ไวคิดหาทางออกให้เร็ว หาตลาดช่องทางใหม่ ๆ ในการกระจายสินค้าออก สามารถปรึกษาบริษัทรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกใน ส.อ.ท. เพราะถือเป็น big brother ช่วยกันได้