4 เขื่อนวิกฤตน้ำเหลือแค่ 10% นาปี 4 ล้านไร่เคว้ง “พึ่งฝนฟ้า”

นาข้าว

4 เขื่อนหลัก “ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยฯ-ป่าสัก” วิกฤต พายุฤดูฝนเติมน้ำเข้าเขื่อนได้แค่ 10% มีน้ำใช้การได้แค่ 1,792 ล้าน ลบ.ม. เผยชาวนาแห่ปลูกข้าวนาปีทะลุ 4 ล้านไร่ กรมชลประทานบริหารจัดการเข้ม ไม่ยอมปล่อยน้ำให้รอฟ้าฝน หวั่นกระทบแผนจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุซินลากูในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงเขื่อนหลักของทุกภูมิภาคก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงน้อยมาก โดยมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนรวมกันเพียง 900 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเพียง 10% ของปริมาณฝนที่ตกลงมาเท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศขณะนี้ยังตกอยู่ในภาวะวิกฤต ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคจะมีไม่เพียงพอตลอดฤดูแล้งในปี 2564

เขื่อนป่าสักฯไม่มีน้ำไหลลงอ่าง

รายงานจากฝ่ายวิเคราะห์และสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน แจ้งถึงสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่ง (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) ซึ่งจะมีผลต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2563 ปรากฏมีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกันแค่ 1,792 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ในจำนวนนี้มีเพียงเขื่อนสิริกิติ์เท่านั้นที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเฉลี่ยวันละ 75 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่เหลือน้ำใช้การได้อยู่เพียง 68 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 7 นั้น “ไม่มีน้ำไหลลงอ่างเลย”

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งอื่น ๆ ที่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ “น้อยกว่า” ร้อยละ 20 ประกอบไปด้วย เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 172 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19, แม่มอก 7 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 8, อุบลรัตน์ -200 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ -11 ซึ่งย่ำแย่ที่สุดในประเทศ, มูลบน 18 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13, ลำนางรอง 16 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13, ทับเสลา 17 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10, กระเสียว 17 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7 และบางพระ 4 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 4

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณน้ำในภาคตะวันตกของประเทศที่ไม่เคยประสบปัญหาภัยแล้งมาก่อน ในปีนี้มีน้ำไหลลงอ่างน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 1,600 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 21 กับเขื่อนวชิราลงกรณ 768 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 13 โดยทั้ง 2 อ่างมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเฉลี่ยวันละ 10 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

ปลูกข้าวนาปีทะลุ 4 ล้านไร่

สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปี ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ขณะนี้มีการปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปแล้วเป็นจำนวน 4.20 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51.81% จากแผนการปลูกข้าวนาปีที่กำหนดไว้ไม่เกิน 8.10 ล้านไร่ แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือแค่ 1,792 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น และน้ำจำนวนนี้จะต้องถูกกันไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ทำให้การทำนาปีในเขตชลประทานจะต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักเท่านั้น ส่วนการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ (ค่าความเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี แหล่งน้ำดิบของการประปา ปรากฏมีค่าความเค็มเกินกว่ามาตรฐานมาหลายวันแล้ว โดยล่าสุดอยู่ที่ 0.27 กรัม/ลิตร (มาตรฐานไม่เกิน 0.25 กรัม/ลิตร) เนื่องจากปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร อยู่ที่ 60 ลบ.ม./วินาที ไม่เพียงพอที่จะดันน้ำเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชาวนาให้รอฟ้าฝน

นายอำนาจ อินทร์วงศ์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร กล่าวว่า ในพื้นที่ต้องรอน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ไหลผ่านลงมา ซึ่งน้ำส่วนนี้จะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเดียวตามนโยบายของกรมชลประทาน ปัจจุบันเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 17% ส่วนฝั่งแม่น้ำยม ตอนนี้ก็แห้งขอด “ถ้าฝนไม่ตก ทางชลประทานก็ไม่มีต้นทุนน้ำให้ เพราะต้องเก็บน้ำไว้ในการอุปโภคบริโภคในอนาคต แต่จะให้ชาวบ้านใช้น้ำจากคลองธรรมชาติ โดยจะนำเครื่องสูบเข้าไปช่วย อีกทั้งปีนี้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งปัจจุบันมีน้ำน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้”

นายบุญเลิศ บุบผากอง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตาก กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลว่า “ค่อนข้างแย่” ต้องรออีก 2 เดือนข้างหน้าคือ เดือนกันยายน-ตุลาคม ตามสถิติปริมาณฝนในช่วงเดือนกันยายนจะมีปริมาณน้ำลงในเขื่อนมากที่สุด ตอนนี้เกษตรกรที่มีการปลูกข้าวให้ใช้ฝนในการทำการเกษตรแทน ส่วนน้ำในเขื่อนภูมิพลที่ใช้การได้จะเก็บกักไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และควบคุมให้ถึงฤดูแล้งปีหน้าเท่านั้น “เหลืออีก 2 เดือนฤดูฝนก็จะหมดไป ต้องภาวนาขอให้ฝนตก มีน้ำเต็มเขื่อน เกษตรกรจะได้ไม่เดือดร้อน”

วชิราลงกรณน้ำน้อย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากจังหวัดกาญจนบุรีเข้ามาว่า ได้เกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 3 เดือนแล้ว ส่งผลให้ไม่มีน้ำฝนไหลมาเติมในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ จนทำให้พื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ อ.สังขละบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อน มีสภาพที่น้ำลดจนปรากฏภาพเรือนแพพักอาศัยของประชาชน และแพท่องเที่ยวเกยตื้นอยู่บนบก ขณะที่แม่น้ำซองกาเลียที่ไหลผ่านบริเวณสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง


ระดับน้ำลดลงจนอยู่ในลำคลองเดิม ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเรือชมวัดจมน้ำ หรือวัดวังก์วิเวการามเดิม สถานที่ท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็น Unseen Thailand ทำได้ยากยิ่งขึ้น “ปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพียงแค่ 600 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากปกติในทุก ๆ ปีจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างตลอดทั้งปี เฉลี่ยอยู่ที่ 5,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้จะมีน้ำไหลเข้าอ่างอยู่ที่ประมาณ 3,800 ล้าน ลบ.ม. หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1,700 ล้าน ลบ.ม.” นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณกล่าว