“CP-เทสโก้” ควบรวมแบบมีเงื่อนไข

การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ของเครือ ซี.พี. ด้วยเม็ดเงิน 3.38 แสนล้านบาท สร้างแรงกระเพื่อมในธุรกิจค้าปลีกไม่น้อย ด้วยเหตุที่ขณะนี้ไทยมีบทบัญญัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการรวมธุรกิจตามมาตรา 51 จึงทำให้ดีลนี้ไม่ง่าย

ต่างจากเมื่อครั้งที่บิ๊กซี-คาร์ฟูร์ ปี 2553 ซีพี ออลล์ ซื้อแม็คโคร ปี 2556 บีเจซีซื้อบิ๊กซี ปี 2559 ซึ่งช่วงนั้นยังอยู่ภายใต้กฎหมายเดิม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 แม้ว่าจะมีบทบัญญัติเรื่องการรวมธุรกิจก็จริง แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้กำหนด “เกณฑ์การรวมธุรกิจ” ดีลดังกล่าวจึงผ่านฉลุย ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ไม่ต้องขออนุญาตคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เช่นครั้งนี้

หลักใหญ่เรื่องการควบรวมธุรกิจนั้น กำหนดให้ธุรกิจที่ต้องการรวมกัน ทั้งผู้ผลิต-ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย-ผู้จำหน่ายผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย หรือผู้บริการ-ผู้บริการ ที่เข้าซื้อสินทรัพย์ของรายอื่น 15% ของมูลค่าทรัพย์สินในรอบปีบัญชี เพื่อคุมนโยบายบริหาร จะต้องดำเนินการขออนุญาตรวมธุรกิจ เมื่อ 1) มียอดขายรวมกันตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป นับรวมยอดขายของบรรดาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการ และเมื่อรวมแล้วอาจทำให้เกิดการ “อำนาจเหนือตลาด” หรือผูกขาด หมายถึง มีผู้ประกอบการรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง มีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้าหรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป มีผลต่อการแข่งขันเสรีเป็นธรรม และมีผลต่อประชาชนผู้บริโภคจะต้องขออนุญาตคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเท่านั้น ซึ่งกรณี “ซี.พี.-เทสโก้”ถือว่าเข้าข่ายต้องยื่นขออนุญาตตามกฎหมายดังกล่าว

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ซีอีโอบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้ถือหุ้น บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด หนึ่งในกลุ่มที่ได้ลงทุนดีลนี้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ว่า ได้ยื่นเรื่องให้ กขค. พิจารณาแล้ว และคาดว่าผลสรุปน่าจะเสร็จสิ้นภายในปลายปีนี้ ผลจากดีลนี้ถือเป็นดีลสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ทำให้ซีพีเอฟมีโอกาสขายสินค้าไปยังมาเลเซียได้ ด้วยต้นทุนต่อหน่วยถูกลง และถ้านับแล้วในเซ็กเตอร์ไฮเปอร์มาร์เก็ตเบอร์ 1 ที่มีศักยภาพสูง

หลังจาก ซี.พี.ยื่นขออนุญาตควบรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแล้ว ได้มีการตั้งอนุกรรมการชุดที่ 1 ขึ้นมาศึกษาข้อมูลเบื้องต้น และให้ทางกลุ่ม ซี.พี.จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมจนครบ และมีกำหนดระยะเวลาจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน หรือในเดือนพฤศจิกายน 2563 และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน หรือกลางเดือนธันวาคม แต่ก็มีโอกาสที่ดีลควบรวมนี้จะต้องลากยาวถึงต้นปี 2564

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กขค.ได้ตั้ง”คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ชุด 2″ ขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดของข้อมูลที่ได้จากคณะอนุกรรมการชุดแรก

“คณะอนุฯชุดนี้จะต้องศึกษาวิเคราะห์ถึงโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก เช่นว่า ค้าปลีกในครั้งนี้หมายความรวมถึงประเภทค้าปลีกใดบ้าง รวมโมเดิร์นเทรด หรือแยกเซ็กเมนต์เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนี่ยนสโตร์ เป็นต้น และต้องพิจารณาว่าโครงสร้างธุรกิจก่อนและหลังจากการควบรวมครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผลจากการควบรวมครั้งนี้จะกระทบต่อระดับมหภาคและจุลภาคอย่างไร พร้อมทั้งสรุปความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า พิจารณาเพื่อออกประกาศคำสั่ง”

อย่างที่ทราบคือ ไทยไม่เคยมีต้นแบบเรื่องการควบรวมธุรกิจค้าปลีกเช่นนี้มาก่อนซึ่งอาจต้องอิงโมเดลต่างประเทศ เช่น คณะกรรมการจะไม่เพียงแค่ตัดสินว่าให้ หรือไม่ให้ควบรวม แต่อาจจะพิจารณาให้ “ควบรวมได้แต่เป็นการรวมแบบมีเงื่อนไข” เช่น ผู้ที่จะทำการรวมธุรกิจต้อง “ตัดขายธุรกิจบางส่วน” ให้คู่แข่งเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หรืออาจมีเงื่อนไขมากกว่านี้ หากผู้ประกอบการยอมรับเงื่อนไขได้ก็สามารถควบรวมได้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในระหว่างการพิจารณาของเรกูเลเตอร์กำลังเข้มข้น ก็มี “คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และทรัพย์สินทางปัญญา” (กมธ.) ซึ่งมีนายอันวาร์ สาและ เป็นประธาน ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาศึกษาคู่ขนานกับเรกูเลเตอร์ โดยกระบวนการศึกษาของ กมธ.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูล ทั้งตัวกรรมการแข่งขัน บริษัทที่จะควบรวม และนักวิชาการต่าง ๆ เข้าไปให้ข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกันแล้วหลายครั้ง

จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอผลสรุปต่อรัฐบาลเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ ส่งกลับมาให้ กขค.แม้ว่าในความเป็นจริงจะถือเป็นเรื่องอิสระที่ กมธ.จะหยิบประเด็นทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ อะไรก็ได้ขึ้นมาศึกษา แต่ก็น่าจับตามองว่าหากบทสรุปผลศึกษาของ กมธ.ไม่สอดคล้องกับบทสรุป กขค.แล้วรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเคสนี้จึงนับเป็นความท้าทายต่อการทำงานของเรกูเลเตอร์ในฐานะหน่วยงานอิสระไม่น้อย