เอกชนชง “ศบศ” จ้างเด็กจบใหม่ 1 ปีหักภาษีได้ 2 เท่า กู้บ้านหลังแรกรัฐจ่ายดอกเบี้ยให้

“กลินท์” ถกสมาชิกสภาหอการค้า เคาะ 3 เรื่องด่วนเสนอ ศบศ. หลังหารือ “สุพัฒนพงษ์” ดันจ้างงานแรงงานจบใหม่ แลกลดหย่อนภาษี-ขอขยายเวลาพักหนี้ถึงสิ้นปี 2564 พร้อมยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้โดยรัฐอุดหนุนเป็นเครดิตภาษีนิติบุคคลสำหรับธนาคารที่ร่วม พร้อมขอประกันสังคมยืดเวลาจ่าย 62% ลดหย่อนให้นายจ้างจ่ายสมทบเหลือ 1%จากเดิม 4%

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ได้ประชุมกับสมาชิกและจัดทำข้อเสนอนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.แล้ว

สำหรับ 3 ข้อเสนอ ประกอบด้วย 1) แนวทางที่1เพิ่มการจ้างงานเพื่อลดอัตราการว่างงาน และพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพมากขึ้นโดยรัฐจะเป็นผู้จ้างงานเพื่อให้แรงงานมีรายได้ นำไปใช้จ่ายค่าครองชีพ และจะเพิ่มการพัฒนาทักษะ และประสบการณ์

โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เช่น อว.จัดทำหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เน้นการพัฒนาทักษะ (re-skill & Up skill) กระทรวงแรงงานรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ กระทรวงดิจิทัล อบรมผู้สมัครด้านนวัตกรรม และการใช้ IT กระทรวงศึกษารับสมัครผู้ว่างงานไปยังโรงแรมเพื่อเป็นครูพิเศษ เป็นต้น

นอกจากให้ภาครัฐช่วยจ้างงานเด็กจบใหม่แล้ว อาจะเสนอให้เอกชน สามารถเข้าร่วมโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ด้วย โดยมีสัญญาจ้าง 1 ปี และสามารถนำมาหักภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้แรงงานมีงานทำ แต่ยังช่วยให้มีประสบการณ์ทำงานจริงด้วย โดยจะเน้นที่เด็กจบใหม่ 1-2 ปีเท่านั้น

แนวทางที่ 2 รัฐช่วยลดภาระรายจ่ายสำหรับประชาชน โดยเฉพาะคนที่กำลังสร้างครอบครัวเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ประสบปัญหาจากโควิด มีรายจ่าย เช่น การผ่อนบ้าน ซึ่งแนวทางขอให้รัฐรับภาระดอกเบี้ยให้งวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2563 สำหรับผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรก ส่วนวงเงินกู้เท่าไรแล้วแต่จะกำหนด

ทั้งนี้ ธนาคารยกเว้นดอกเบี้ยให้กับผู้กู้และมาเก็บดอกเบี้ยกับภาครัฐ โดยกระทรวงการคลังไม่ต้องจ่ายเป็นเงินสดแต่จ่ายเป็นเครดิตให้กับธนาคาร ที่จะใช้ชำระภาษีนิติบุคคลงวดปีบัญชี 2563 ซึ่งรัฐจะไม่ต้องชำระเงินทันที และไม่ส่งผละทบต่อสภาพคล่องธนาคาร

พร้อมกันนี้เสนอให้ขยายการใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ประชาชน เช่น สาธารณูปโภค ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ฯลฯ โดยเฉพาะค่าไฟ

ส่วนแนวทางที่ 3 ขอให้รัฐช่วยอุดหนุนเงินให้ธุรกิจสามารถคงสภาพการจ้างงานได้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งแนวทางการดาเนินการคือ ขอให้ขยายระยะเวลา มาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงานแบบสุดวิสัย สามารถรับเงิน 62% (ประกันสังคมมาตรา 33)

และขอขยายเวลาลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน และลดอัตราการจ่ายสมทบของนายจ้างจาก 5% เหลือ 1% จากเดิมที่ประกันสังคมจะเสนอครม.ว่าให้จ่ายฝ่ายละ 2% นับตั้งแต่เดือนมิถุนาบน-สิงหาคม 2563

พร้อมทั้งเร่งรัดกระทรวงแรงงาน พิจารณาออกมาตรการให้ภาคธุรกิจสามารถจ้างงานรายชั่วโมง ค่าแรง 40-41 บาทต่อชั่วโมง (หรือ 325 บาทต่อคนต่อวัน) ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงและไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันแทนที่จะต้องจ้สงแบบเต็มวันแบบปัจจุบัน

และขอขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ เพิ่มถึงสิ้นปี 2564 เพราะเศรษฐกิจอาจต้องใช้ระยะเวลฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติ


อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อเสนอดังกล่าวแล้วทางเอกชน มีแผนดำเนินการสนับสนุนโดยการเปิดรับแรงงานจบใหม่ ที่รัฐให้ลดหย่อนภาษี รวมถึงการจัดคอร์สอบรมระยะสั้น ให้เอสเอ็มอี หรือคนว่างงานแต่มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ และช่วยกันดูแลเอสเอ็มอีในเครือข่ายให้ได้รับเงินตรงเวลา และเพิ่มการอบรมสัมมนาในต่างจังหวัด เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยว