สยามคูโบต้าผนึกผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น เปิดตัว “ปฏิทินเพาะปลูกข้าว” หนุนชาวนาไทย-เพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนเพาะปลูก

สยามคูโบต้าผนึกผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น เปิดตัว “ปฏิทินเพาะปลูกข้าว”หนุนชาวนาไทย เพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนเพาะปลูก แม่นยำสูง ลดเสี่ยงที่เกิดในแต่ละแปลงได้ดี

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทสยามคูโบต้าฯ ได้ร่วมกับนายซึโทมุ มิยาโกชิ อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเชี่ยวชาญพิเศษ ด้านเทคนิคการปลูกข้าว จากประเทศญี่ปุ่น จัดทำปฏิทินการเพาะปลูกข้าวขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวนาไทยทำนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจัดทำปฏิทินข้าวเกิดจากความตั้งใจและเป็นลิขสิทธิ์ของสยามคูโบต้าที่ผ่านการคิดค้น วิจัย เพื่อต้องการส่งเสริมให้ชาวนาไทยหันมาทำเกษตรแบบปราณีตและเกษตรแม่นยำสูงกันมากขึ้น ซึ่งปฏิทินข้าวนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยเหลือเกษตรกรในการตัดสินใจและวางแผนการเพาะปลูก ใช้เป็นข้อมูลในการควบคุมและวิเคราะห์การเจริญเติบโตของข้าวในแต่ละระยะ ทำให้สามารถวางแผนจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละแปลง

รวมถึงผลผลิตที่ควรจะได้ในแต่ละสภาพพื้นที่ และยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงแผนการผลิต ในฤดูกาลถัดไปได้อีกด้วย

โดยสยามคูโบต้าได้นำปฏิทินการเพาะปลูกหลายๆ รูปแบบมาทำการศึกษา พร้อมกับได้รับคำแนะนำจากนายซึโทมุ ถึงหลักการในการทำปฏิทินเพาะปลูกข้าวของประเทศญี่ปุ่น จึงได้นำหลักการนั้นมาศึกษา ทดลองและปรับใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับพันธุ์ข้าว และสภาพแวดล้อมของประเทศไทย

พร้อมทั้งนำองค์ความรู้จาก “KUBOTA (Agri) Solutions” เกษตรครบวงจร นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ เข้ามารวบรวมด้วย เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิต และรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

สำหรับขั้นตอนในการทำงานของปฏิทินเพาะปลูกข้าวของประเทศญี่ปุ่นจะประกอบด้วยข้อมูลหลักๆ คือ กำหนดเป้าหมายของข้อมูลผลผลิต จากนั้นทำการเก็บข้อมูล ปรับปรุงวิธีการ และทดสอบซ้ำ จนได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำ และสามารถเผยแพร่ให้กับเกษตรกรทั่วไปสามารถใช้ได้

ซึ่งขั้นตอนในการจัดทำปฏิทินเพาะปลูกข้าวสำหรับประเทศไทยนั้น มีขั้นตอนหลักๆอยู่ 5 ขั้นตอน โดยบริษัทฯได้เริ่มต้นจากศึกษาข้อมูล ทำการวิเคราะห์พื้นที่ที่จะทำการทดสอบปฏิทิน ปลูกข้าวจริงและทำการเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงทุกขั้นตอน นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ผล และสุดท้ายนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจัดทำเป็นปฏิทินเพาะปลูกข้าว

โดยจะพิจารณาจากองค์ประกอบและศักยภาพผลผลิตของข้าวแต่ละพันธุ์ เช่นตัวอย่าง ต้องการให้ได้ข้าว 1 ตัน จะต้องวางแผนย้อนกลับไปว่าจะต้องมีองค์ประกอบผลผลิตที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง แล้วสามารถทำได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ได้จะทำการย้อนกลับไปดูว่ามีการผิดพลาดตรงจุดไหน เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงแปลงในฤดูถัดไป

ปฏิทินการเพาะปลูกที่สยามคูโบต้าจัดทำขึ้น ประกอบด้วยข้อมูล 2 หน้า หน้าแรกเป็นคำแนะนำสำหรับการทำนาหยอดแห้งสำหรับพื้นที่อาศัยน้ำฝน โดยมีพันธุ์ข้าวแนะนำ คือ ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และหน้าที่สอง เป็นคำแนะนำสำหรับการทำนาดำสำหรับพื้นที่ชลประทาน โดยมีพันธุ์ข้าวแนะนำ คือ ข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงอายุ 120 วัน

แต่ละหน้าของปฏิทินจะมีองค์ประกอบ 6 ส่วน คือ 1. พื้นที่แนะนำสำหรับปฏิทินเพาะปลูกชุดนี้ 2. พันธุ์ข้าว 3. ช่วงเวลาการเพาะปลูก 4. ค่ามาตรฐานของการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ 5. ระยะการเจริญเติบโตของข้าว และ 6. การปฏิบัติในแปลงและจุดควบคุม โดยรายละเอียดในปฏิทินเพาะปลูกข้าวจะมีการอธิบายถึงวิธีการทำนาในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดวันเพาะปลูก การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย การจัดการน้ำ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการประเมินผลในแต่ละขั้นตอน และตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมของข้าวในแต่ละระยะ

“ปฏิทินเพาะปลูกข้าวฉบับนี้ เป็นฉบับแรกที่สยามคูโบต้าได้จัดทำขึ้น มีความโดดเด่นคือ ค่ามาตรฐานของการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถวัดผลการเจริญเติบโตของต้นข้าว เพื่อปรับการดูแลรักษาต้นข้าวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ รวมถึงมีคำแนะนำเพิ่มเติมในแต่ละช่วงเวลาสำคัญของการเจริญเติบโต เช่น การงอก ออกรวง เก็บเกี่ยว

โดยในอนาคตบริษัทฯ จะทำการวิจัยและพัฒนาปฏิทินเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวที่แนะนำในแต่ละพื้นที่ และยังคงพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลปฏิทินเพาะปลูกข้าวตัวปัจจุบันให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้นอย่างน้อย 2-3 ปี และยังมีเป้าหมายที่จะขยายผลไปยังพื้นที่หรือพันธุ์ใหม่ๆคู่ขนานกันไป

สำหรับในด้านการส่งเสริม สยามคูโบต้ามีเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในหลายภูมิภาค โดยจะนำไปทดลองใช้และพัฒนาต่อในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ได้ปฏิทินเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าวเสริม