“จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจใหม่ ตลาดใหญ่ 37,900 ล้าน

จิ้งหรีด

“แมลง” นับเป็นแหล่งอาหารโปรตีนชนิดใหม่ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้การยอมรับ ถือเป็น “สินค้าส่งออกดาวรุ่ง” ที่มีอนาคตไกล ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นำคณะลงพื้นที่ จ.สุโขทัย เพื่อติดตามความก้าวหน้าการส่งเสริมการยกระดับการเลี้ยงจิ้งหรีด GAP ตามนโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่ฟาร์มชุติกาญจน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

ตลาดส่งออกแมลงโต 23.8%

นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกมีอัตราขยายตัว 23.8% ระหว่างปี 2018-2023 และคาดว่าในปี 2023 จะมีมูลค่า 37,900 ล้านบาท ขณะที่ตลาดส่งออกของไทย ปีละ 1,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 4,000 ตัน ส่งออกรูปแบบสด แช่เเข็ง แปรรูปทอด คั่ว โดยเฉพาะที่นิยมมากสุด คือ นำไปทำเป็นแป้งผสมอาหาร ทั้งเบเกอรี่ พาสต้า

“รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรที่กลับภูมิลำเนามีอาชีพและเพิ่มโอกาสส่งออกอาหารไทย จึงได้ผลักดันการเลี้ยงจิ้งหรีดสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง ตามมาตรฐานการส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการจำนวนมาก โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมสูงขึ้นจากเดิมจะนิยมในกลุ่มประเทศอียู แต่ขณะนี้ขยายไปยังอเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียตะวันออกและอาเซียน เรียกว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าจับตาอีกชนิดหนึ่ง”

ทั่วโลกออร์เดอร์ไม่อั้น

นางสาวชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ฟาร์มชุติกาญจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิก 36 ราย เลี้ยงจิ้งหรีดในระบบโรงเรือนทั้งแบบปิดและแบบเปิดแปลงใหญ่ ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด GAP ปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มอียู ฯลฯ รูปแบบผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% นำไปทำพาสต้า

ส่วนลูกค้าในประเทศจะเน้นจำหน่ายออนไลน์ทั้งปลีก-ส่ง ทั้งผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% ซึ่งนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ จิ้งหรีดอบกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบ คุกกี้ และน้ำพริก มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 1.6 ล้านบาท หรือประมาณ 19.2 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสมาชิกของกลุ่มจะเน้นเลี้ยงจิ้งหรีดพันธุ์สะดิ้งเป็นหลัก ซึ่งแต่ละเดือนแม้ผลิตได้นับสิบตัน แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะผงโปรตีนจากจิ้งหรีดซึ่งส่งออก 90% มีจำหน่ายภายในประเทศเพียง 10% เท่านั้น

“จิ้งหรีดเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของต่างประเทศมาก เราเริ่มจากทำเป็นอาชีพเสริม กระทั่งมีออร์เดอร์จากฟินแลนด์ แคนาดา จึงเริ่มพัฒนานวัตกรรมเครื่องฆ่าเชื้อแผงไข่เอง จนเป็นอาชีพหลัก แล้วมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ”

ฟื้นตลาดส่งออกอาหารไทย

นายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 3 เสริมว่า สถิติซื้อขายทั่วโลกในปี 2562 เฉพาะในวงศ์จิ้งหรีดและตั๊กแตน (orthoptera) สามารถตรวจสอบได้จากพิกัดศุลกากรไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท มีทั้งสินค้าสด ต้ม แช่เย็น แช่แข็ง ทั้งแบบเป็นตัว และแปรรูปเป็นเส้นผงแป้งจิ้งหรีด ของขบเคี้ยว โปรตีนบาร์ ไปจนถึงการผสมในฐานะส่วนประกอบอาหารอื่น ๆ จึงคาดการณ์ว่ามูลค่าซื้อขายสินค้าในกลุ่มจิ้งหรีด โดยเฉพาะลักษณะผงแป้งทั่วโลกอาจสูงถึงปีละกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี และเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันไทยมีโรงงานที่มีศักยภาพระดับพร้อมส่งออกประเทศมาตรฐานสูง 10 โรงงาน มีเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย มกอช.และกรมปศุสัตว์ กำลังผลักดันให้ขึ้นทะเบียนใบรับรองระบบ GMP และ HACCP ในสถานประกอบการเพื่อการส่งออก ตามกฎกระทรวง และผลักดันให้เปิดตลาดไปยังประเทศที่มีกฎระเบียบนำเข้าเฉพาะ ได้แก่ เม็กซิโก อเมริกา แอฟริกา

ทั้งนี้ โอกาสตลาดส่งออกยังมีอนาคตอีกมาก คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือมีแหล่งที่มาที่รู้ได้ว่าธรรมชาติ 100% มากขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับโปรตีนอื่นแมลงมีอัตราการแลกเนื้อที่ดี มีคุณค่าโภชนาการ ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์สุขภาพ รักษ์โลก

“มกอช. เร่งอบรมส่งเสริมเกษตรกรเข้ามาตรฐาน GAP เพื่อสร้างรายได้ช่วงโควิด-19 จิ้งหรีดเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย 45 วันก็จับได้ ใช้น้ำน้อย ต้นทุนต่ำ จึงถือเป็นอีกอาชีพทางเลือกที่น่าจับตา”