ส่งออกข้าวไทยมีลุ้น “ออสเตรเลีย” แล้งหนักผลผลิตข้าวหด จ่อนำเข้า

ข้าวไทย
Romeo GACAD / AFP

ส่งออกข้าวไทยมีลุ้น ต.ค.นี้ หลัง “ออสเตรเลีย” เผชิญแล้งผลผลิตข้าวหด ต้องนำเข้า ด้านคู่แข่งอินเดีย-ปากีสถาน สะดุดโควิดส่งมอบไม่ทัน สมาคมผู้ส่งออกข้าวคาดเดือน ส.ค. ดันยอดทะลุ 4 แสนตัน

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีปัญหาภัยแล้งรุนแรงกระทบผลผลิตข้าวของประเทศออสเตรเลียจะหมดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส โดยขณะนี้ ชาวนาออสเตรเลียเก็บเกี่ยวข้าวได้เพียง 54,000 ตัน เทียบกับอัตราปกติ 800,000 ตัน ก่อนประเทศจะพบกับวิกฤตฝนแล้ง

จากการรายงานของ The Daily Telegraph อ้างคำให้สัมภาษณ์ ร็อบ กอร์ดอน (Rob Gordon) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท SunRice ธุรกิจด้านอาหารชั้นนำของออสเตรเลียเตือนว่าชาวออสเตรเลียอาจหันมานำเข้าจากเวียดนามและไทยในไม่ช้า

สาเหตุที่ออสเตรเลียมีข้าวไม่พอบริโภคเนื่องจากฝนที่ตกน้อยอากาศแห้งแล้ง ทำให้ตัวเลขการเก็บเกี่ยวลดลงมากกว่า 90% ตั้งแต่ปี 2017 บวกกับแรงซื้อกักตุนช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ทำให้การผลิตข้าวลดลง

“เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลกับลูกค้า แจ้งว่าคาดการณ์ว่า ฤดูเก็บเกี่ยวรอบหน้าของจะขาดจริง แต่ผลิตต่ำแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียนำเข้าข้าวไปเยอะ ตั้งแต่ช่วงโควิด จึงยังมีสต๊อกยังมากอยู่ทั้งในภาคครัวเรือน และผู้นำเข้า แต่ขณะนี้เริ่มทยอยขายออกไปได้ดีขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา และน่าจะมีการขยับซื้อ-ขาย มากขึ้นช่วงเดือน ต.ค.นี้ โดยเฉพาะข้าวข้าวขาว ข้าวหอม ข้าวปทุมกลุ่มคุณภาพสูง”

ก่อนหน้านี้ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า คาดว่าในเดือนสิงหาคม 2563 ปริมาณส่งออกข้าวที่ 400,000-450,000 ตัน จากในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ส่งออก 409,451 ตัน มูลค่า 7,988 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกไทยส่งออกรวมปริมาณ 3,295,046 ตัน ลดลง 32.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 69,470 ล้านบาท ลดลง 15.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยมองว่าประเทศผู้นำเข้าในแถบแอฟริกายังมีความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง เพราะทั้งอินเดีย และปากีสถานต่างประสบปัญหาด้านลอจิสติกส์ทำให้ส่งมอบล่าช้า ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์แต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มากนัก ในส่วนของการส่งออกข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มชะลอลงเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าได้นำเข้าไปเป็นจำนวนมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้มีสต็อกข้าวเพียงพอแล้ว

ส่วนภาวะราคาข้าวของไทยในช่วงนี้ยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญ จากอุปทานข้าวในประเทศมีจำกัด และมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยทำให้ราคาข้าวภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง จึงส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นและห่างจากคู่แข่งประมาณ 40-150 เหรียญสหรัฐฯ

โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 สมาคมฯประกาศราคาข้าวขาว 5% ที่ 525 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่เว็บไซต์ Oryza.com รายงานราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน  ที่ 485-489, 368-372 และ 393-397 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน