แนะรัฐนำมาตรการ “ชิมช้อปใช้-คนละครึ่ง” กระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคในประเทศ

หอการค้า ชี้ จีดีพีไทยทั้งปี 2563 อยู่ในกรอบ ติดลบ 7.5-8.5% ขณะที่มาตรการ คนละครึ่ง รับกระตุ้นให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ดี พร้อมแนะรัฐนำมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ กลับมาใช้เพิ่มเพื่อกระตุ้นการจับใช้ของผู้บริโภค ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าจังหวัดปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ทั้งปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 7.5% ถึง ติดลบ 8.5% โดยคาดว่าจีดีพีไทยไตรมาส 3 จะอยู่ที่ ติดลบ 8% ถึง ติดลบ 10% และไตรมาส 4 จะอยู่ที่ ติดลบ 6% ถึง ติดลบ 8%

ขณะที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เห็นชอบ สำหรับมาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ วงเงินรวม 51,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการคนละครึ่ง 30,000 ล้านบาท และมาตรการเพิ่มค่าครองชีพในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 21,000 ล้านบาท คาดว่าจะส่งทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

 

โดยมาตรการดังกล่าวจะให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างน้อย 2-3 รอบ หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 150,000 – 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้ตัวเลขจีดีพีเฉพาะไตรมาส 4 ติดลบลดลงประมาณ 2% – 3% แต่ทั้งนี้ ยังต้องติดตามมาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จและมีการใช้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบครบทั้ง 510,000 ล้านบาทหรือไม่

ขณะที่การชุมนุมใหญ่วันที่ 19 กันยายน 2563 นี้ ยังคงต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อหรือบานปลายหรือส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่

ทั้งนี้ มองว่ามาตรการชิม ช้อป ใช้ รัฐบาลควรที่จะนำกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลาง เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบในช่วงไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อย 30,000 – 50,000 ล้านบาท

ขณะที่การพิจารณามาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการเร่งเดินหน้าโดยเร็ว เน้นเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง และเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว ซึ่งหากทำได้ก็จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4

“หากคุมการแพร่ระบาดได้จะเป็นการทดสอบระบบป้องกันและมาตรการที่จะใช้กำกับดูแลของรัฐบาลด้วย”

ขณะที่การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มองว่าจะส่งผลดีในภาพรวมต่อเศรษฐกิจโลก เพราะจะทำให้ไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ หรือ 0.50% ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 1ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพคล่องและการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนต่างๆ แต่ทั้งนี้ การที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในกรอบ 31.00 – 31.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ และหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 364 ตัวอย่าง ในเดือนสิงหารม 2563 พบว่า อยู่ที่ระดับ 32.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.8

โดยปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลกระทบสำคัญต่อดัชนีฯ ในเดือนสิงหาคม 2563 คือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปี, รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ที่ปิดไปชั่วคราวได้กลับมาเปิดกิจการได้ และประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ, ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง 30 สตางค์/ลิตร

ส่วนปัจจัยลบที่กระทบ ได้แก่ 1. สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 2/63 หดตัว -12.2% จากผลของการส่งออกและการบริการที่ลดลง รวมทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงเช่นกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 2. ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิม 3. ความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต เป็นต้น

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดประจำเดือนสิงหาคม 2563 พบว่าประเด็นเรื่องของการท่องเที่ยวค่าดัชนีอยู่ในระดับที่แย่ที่สุด เนื่องจากมาตรการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ช่วยให้เกิดการเดินทางเพียงช่วงเสาร์อาทิตย์ ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องการให้มีช่วงวันหยุดที่ยาวขึ้น หรือ ส่งเสริมให้มีการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานในต่างจังหวัด ขณะค่าดัชนีที่แย่รองลงมา คือ การจ้างงานในปัจจุบันที่หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ก็อาจทำให้คนตกงานอย่างน้อย 1 ล้านคน

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีไปถึงภาครัฐเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีดังนี้ 1. รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการจัดสัมมนาในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงวันธรรมดา 2. ส่งเสริมให้เกิดการหยุดยาว เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวเพื่อการลดหย่อนภาษี

3. ออกมาตรการที่รัดกุมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวจากต่างชาติ โดยเน้นการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง และเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้เป็นอย่างดี 4. ส่งเสริมให้เกิดการค้าชายแดนเพิ่มมากขึ้น เช่น การขนส่งสินค้าระหว่างกัน

5. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่าย และสร้างงานในพื้นที่ 6. จัดสรรดูแลแหล่งน้ำสำหรับเกษตร และการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 7. สร้างความเชื่อมั่นภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างภาพลักษณ์ให้นักลงทุนต่างประเทศต้องการเข้ามาลงทุนกับประเทศไทยเพิ่มขึ้น