ผวาโควิดแบนสัตว์น้ำเมียนมา ตลาดทะเลไทยเข้มห้ามจำหน่าย

อาหารทะเล-เมียนมาร์

ผวาโควิดปนเปื้อนอาหารทะเลนำเข้า ตลาดทะเลไทย-สหกรณ์ประมงแม่กลอง ห้ามจำหน่ายสัตว์น้ำจากเมียนมาชั่วคราวจนกว่าการแพร่ระบาดในเมืองมะริดจะคลี่คลาย เผยกรมประมงยังไม่แบน รองประธานหอการค้าฯชี้ไทยยังต้องพึ่งวัตถุดิบผลิตอาหารสำเร็จรูปจากประเทศเพื่อนบ้าน หนุนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ดัน “ฟู้ดเซฟตี้ พลัส” ยกมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 31 ล้านคน การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในหมู่ประชาชน และการตรวจสอบความเสี่ยงการติดเชื้อผ่านทางอาหารจึงเข้มข้นขึ้น นอกจากจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกของไทยประกาศห้ามนำเข้าสินค้าที่พบเชื้อโควิดในบรรจุภัณฑ์อาหารก่อนหน้านี้แล้ว ภาคเอกชนไทยอย่างผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำก็วิตกกังวลว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอาจมีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อน

ผวาโควิดแบนสัตว์น้ำเมียนมา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดเผยว่า ล่าสุดชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร โดยนายจุมพล ฆนวารี ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีหนังสือ ชปส.ที่ 05/2563 ลงวันที่ 21 กันยายน 2563 เรื่อง ไม่อนุญาตให้นำสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศเมียนมา (พม่า) เข้ามาจำหน่ายในตลาดทะเลไทยเป็นการชั่วคราว แจ้งถึงสมาชิกชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร สาระสำคัญระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศเมียนมา (พม่า) ได้ระบาดในระลอก 2 ค่อนข้างรุนแรง และเป็นพื้นที่เสี่ยง เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของตลาดทะเลไทย (จังหวัดสมุทรสาคร) จะมีสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศเมียนมาเข้ามาจำหน่าย จึงมีโอกาสและมีความสุ่มเสี่ยงที่สินค้าสัตว์น้ำอาจจะปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 และอาจส่งผลกระทบกับตลาดทะเลไทยได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้า รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทะเลไทย คณะกรรมการได้มีการเรียกประชุมสมาชิกแพปลา และที่ประชุมได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ไม่อนุญาตให้นำสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศเมียนมา (พม่า) เข้ามาจำหน่ายในตลาดทะเลไทย เป็นการชั่วคราว

สหกรณ์ประมงแม่กลองคุมเข้ม

ขณะที่นายสมพร สมุทรโสภากุล ประธานกรรมการสหกรณ์ประมงแม่กลอง ออกประกาศสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ดังนี้ 1.ไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศเมียนมาเข้ามาจำหน่ายในตลาดปลาสหกรณ์ฯ เป็นการชั่วคราว และ 2.ไม่อนุญาตให้แพปลา และผู้ซื้อ เช่าภาชนะพลาสติกที่ไม่ได้บรรจุสินค้าสัตว์น้ำ ออกนอกตลาดปลาสหกรณ์ฯ โดยให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศเมียนมาจะคลี่คลาย

ให้นำเข้าทางระนอง-ด่านสิงขร

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการแพปลาในจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางชมรมผู้ขายปลาขอความร่วมมือว่า อย่านำเข้าวัตถุดิบอาหารทะเลจากเมียนมาที่มีการระบาดของโรคโควิด โดยเฉพาะทางเมืองมะริด แต่เมืองอื่นยังมีการนำเข้าอยู่ เช่น การนำเข้ามาจากทางระนอง เนื่องจากวัตถุดิบอาหารทะเลของไทยมีไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากเมียนมา

ด้านนายศุรอัฐ ณรงค์ฤทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ปกติยอดการนำเข้าอาหารทะเลจากเมืองมะริด เมียนมา ผ่านด่านสิงขรประมาณ 80% ของยอดรวมสินค้าที่ผ่านด่านสิงขร ปี 2562 (ต.ค. 61-ต.ค. 62) มียอดการค้าผ่านด่านรวม 1,200-1,300 ล้านบาท โดยสินค้าที่นำเข้ามาส่วนใหญ่จะไปเข้าโรงงานในสมุทรสาคร ตั้งแต่เปิดด่านเดือนสิงหาคม ขณะนี้ก็ยังมีการนำเข้า แต่ภาพรวมสินค้ายอดต่อเดือนลดเหลือ 100 ล้านบาท และมีมาตรการเข้มงวดในการป้องกัน ให้ขนส่งสินค้าเข้ามาได้ แต่คนยังห้ามเข้า-ออก ทั้งนี้ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จังหวัดออกประกาศให้สินค้าที่นำเข้าจากเมียนมาต้องใส่ลังพลาสติกปิดมิดชิด ห้ามรถสินค้าที่มีน้ำไหลออกมาวิ่งผ่าน

ชี้กรมประมงยังเปิดให้นำเข้า

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสห้ามนำสินค้าในกลุ่มสัตว์น้ำเข้าไปขายที่ตลาดสมุทรสงคราม และสมุทรสาครนั้น เป็นการประกาศเฉพาะทางสมาคมของทั้ง 2 จังหวัด ที่ไม่ต้องการนำสินค้าสัตว์น้ำที่มีการนำเข้าจากเมียนมาเข้ามาขายใน 2 ตลาดนี้ แต่ไม่ได้มีการจำกัดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากเมียนมาไปจำหน่ายในพื้นที่อื่นหรือตลาดอื่น เช่น สมุทรปราการ เป็นต้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมประมงก็ไม่ได้ประกาศห้ามนำเข้า

ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากเมียนมาเป็นการนำเข้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ดังนั้นไม่ได้มีข้อจำกัดหรือการปิดกั้น สามารถนำเข้าได้เสรีและสามารถนำไปจำหน่ายภายในประเทศได้ เนื่องจากมีวัตถุดิบสำคัญหลายชนิด เช่น ปลา ปลาหมึก ต้องนำวัตถุดิบเข้ามาใช้ในกลุ่มของโรงงานแปรรูป หรือนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญ เช่น ปลากระป๋อง เป็นต้น

เร่งมาตรฐาน Food Safety Plus

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมอาหาร กระทบในแง่ของร้านอาหารปิดตัวลง หลังประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่อีกด้านหนึ่งผลในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารไทย คือ ความต้องการอาหารในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว อาหารสำเร็จรูป บะหมี่สำเร็จรูป เครื่องปรุงอาหาร โดยเฉพาะจีน ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยที่เป็นซัพพลายเชนของจีนมีมากขึ้น การส่งออกสินค้าอาหารไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม ส่งผลดีต่อผู้ผลิตอาหารของไทย

“ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้พัฒนาและเพิ่มการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารที่มากขึ้น หรือ Food Safety Plus เน้นควบคุมระบบสุขอนามัยในไลน์การผลิต การกำหนดนโยบายจัดทำ Guideline for COVID-19 Preventive และผลักดันให้ใช้มาตรฐาน CODEX ให้กลุ่มประเทศต่าง ๆ ยอมรับ”

ทียูเข้มมาตรฐานอาหาร

ด้านนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม ธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ จีนได้ห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่จากอินโดนีเซีย เนื่องจากตรวจพบเชื้อโควิดในบรรจุภัณฑ์

กรณีดังกล่าวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมและการส่งออกอาหารของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องโฟกัสเรื่องการดูแลรักษามาตรฐานเพิ่มความมั่นใจ ปัจจุบันสินค้าไทยถือเป็นสินค้าที่ได้รับความมั่นใจจากทั่วโลก เพราะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีอันดับต้น ๆ ของโลก

“ในส่วนของทียูมีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนทั้งกลุ่มสัดส่วน 5% ของภาพรวม ส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งแช่เยือกแข็งและล็อบสเตอร์”

ในส่วนการใช้วัตถุดิบอาหารทะเล ทียูนำเข้าทูน่าสำหรับผลิตที่โรงงานในไทยจากสหภาพยุโรป ไม่ได้นำเข้าจากอินโดนีเซีย แต่บริษัทลูกในสหรัฐใช้วัตถุดิบจากอินโดนีเซีย ซึ่งได้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลอยู่แล้ว

งาน THAIFEX เปิดฉาก


ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับหอการค้าไทย และโคโลญ เมสเซ่ ประเทศเยอรมนี ได้จัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2020 “The Hybrid Edition” ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่าง 22-26 กันยายนนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 ราย ตลอด 5 วัน และมียอดสั่งซื้อสินค้าภายในงาน 12,000 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ารวม 797 บริษัท