ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาร่วง สมาคมผู้ส่งออกจี้เช็กสต๊อกพ่อค้ากักตุน

ข้าวเปลือก

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจี้รัฐตรวจสต๊อกพ่อค้าข้าว หลังลงพื้นที่พบผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลินาปีเพิ่ม 10% แต่ชาวนาขายราคาร่วงเหลือแค่ กก.ละ 10 บาท

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจภาวะการผลิต การตลาดข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีเพาะปลูก 2563/64 ในวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2563 จ.อุบลราชธานีว่า ที่ประชุมได้ประเมินว่าผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปี 2563/64 มีปริมาณเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมาแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีพายุหลายลูกแต่ไม่ได้เสียหาย

“ขณะที่สถานการณ์ราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตกต่ำลงเหลือ กก.ละ 10 บาทหรือตันละ 10,000 บาท ทางสมาคมต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสต๊อกข้าวในมือผู้ประกอบการค้าข้าว เพื่อประเมินทิศทางการส่งออกข้าว เนื่องจากพบว่าการสต๊อกข้าวเพื่อทำตลาดในช่วงโควิด-19 เปลี่ยนแปลงเร็ว โดยคาดว่าราคาตกต่ำอาจเกิดจากการระบายสต๊อกข้าวออกมาจนกระทบต่อราคาข้าวในตลาดก็เป็นไปได้”

สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณ 6 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 6.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม ส่วนแนวโน้มของปี 2564 คาดว่าจะมีปริมาณสูงขึ้นจากปีนี้ เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยอ่อนตัวลงกว่าคู่แข่งซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าหันมาซื้อไทยมากขึ้น โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวหอมมะลิจากตันละ 1,000 เหลือ 800 เหรียญสหรัฐ ราคาข้าวขาว จากตันละ 500 เหลือ 495 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามราคาห่างกันตันละ 10 เหรียญสหรัฐ เชื่อว่าโอกาสการส่งออกข้าวน่าจะมีสูงขึ้น

“ผู้ส่งออกยังคงกังวลอุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคตจะแข่งขันในตลาดข้าวลำบากมากขึ้น หากไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ เพื่อใช้ในการแข่งขันในตลาด ไทยมีเพียง 3 ชนิดข้าว คือ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ขณะที่เวียดนามมีพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มออกหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ ST24 อีกทั้งต้นทุนการผลิตข้าวไทยยังสูง หากยังเป็นแบบนี้เชื่อว่าไทยจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 5 ของโลก จากปัจจุบันที่เราตกจากอันดับ 1 มาเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม อนาคตอาจจะแพ้ให้เมียนมาและจีน”

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์
เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำเหลือเพียง กก.ละ 10 บาท หรือตันละประมาณ 10,000 บาท ต่ำกว่าราคาประกันที่รัฐบาลกำหนดไว้ตันละ 15,000 บาท คาดว่าจะมีสาเหตุมาจากการส่งออกข้าวที่ลดลง เนื่องจากโควิด-19 ระบาด กระทบต่อเศรษฐกิจการค้าข้าวโลก ประกอบกับราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโครงการประกันรายได้ข้าวงบประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดอัตราการประกันรายได้เทียบเท่ากับปี 2562/63 และระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563-พ.ค. 2564 ทั้งยังมีมาตรการคู่ขนานควบคู่กับโครงการประกันรายได้อื่น ๆ

นายเอกราช ปรีชาชน นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า ข้อมูล ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว 60 ล้านไร่ เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 5 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้เป็นภาคอีสาน 39 ล้านไร่ ผลผลิต 14 ล้านตัน มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

นางพรพรรณ เห็นสว่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลสถิติการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า คาดการณ์พื้นที่ปลูกข้าวปี 2563/64 อยู่ที่ 61.2 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 0.14% จากเดิม 61.1 ล้านไร่ คาดว่าจะมีผลผลิต 25 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.06% จากเดิม 24 ล้านตัน จากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก