ดร.รัชดา เจียสกุล สหรัฐกลับเข้า CPTPP ไทยอยู่ตรงไหน ?

หมือนว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐระหว่าง “โจ ไบเดน” กับ “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจจะไปจบลงที่ศาลสูง เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับผลการนับคะแนนในหลายรัฐสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือ การเจรจาต่อรองผลประโยชน์ทางด้านการค้า-การลงทุน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การใช้มาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาษี สิทธิแรงงาน หรือสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่จะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไประหว่าง “แข็งกร้าว” กับ “ผ่อนปรน” รวมไปถึงการผูกโยงไปกับการเปิดตลาดผ่านทางความตกลงการค้า หรือการต่อรองในแบบทวิภาคี

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดร.รัชดา เจียสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาความตกลงการค้าเสรี ถึงการปรับตัวและนโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทย ควรจะดำเนินการไปในทิศทางไหน

Q : มุ่งสร้างพันธมิตรทางการค้า

หาก “ไบเดน” ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมี 2 คีย์เวิร์ดสำคัญที่จะเกิดขึ้น เรื่องแรก ไบเดนจะสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะ ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ถือว่าจะอยู่ในบรรทัดแรกที่กล่าวถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ทรัมป์” ไม่เคยสนใจ และเรื่องที่สอง ไบเดนจะหันกลับมาดำเนินการตามกฎระเบียบกติกาของทุกโต๊ะเจรจาการค้าทั้งแบบทวิภาคี หรือพหุภาคี จากที่ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ลาออกจาก WTO ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไบเดนจะกลับเข้าสู่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ที่มองอย่างนี้ก็เพราะ ตอนที่ “ไบเดน” เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐสมัยโอบามา ไบเดนเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดความตกลง TPP หรือ CPTPP ในปัจจุบัน (TPP คือ Tran-Pacific Partnership หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ส่วน CPTPP คือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ดังนั้นการจะบาลานซ์พาวเวอร์ระหว่างสหรัฐกับจีนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสหรัฐ การเจรจา TPP เปรียบเสมือนกระสุนนัดแรกของ geopolitic วิธีการดึงพันธมิตรของไบเดนจะทำโดยการให้สิทธิประโยชน์กับพันธมิตร ซึ่งต่างจาก “ทรัมป์” ที่จะทำโทษคนที่ไม่ชอบ โดยไม่สนใจกฎกติกาองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งทำแบบนั้นมันไม่เวิร์ก

ดังนั้น การที่ไบเดนกลับมา เราจะได้เห็นการเอ่ยถึงไทยเป็นประเทศแรก ๆ โดยไบเดนระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมายังมีพันธมิตรที่สหรัฐไม่เห็นถึงความสำคัญอีกเป็นจำนวนมาก

Q : สหรัฐกลับเข้า CPTPP

หากสหรัฐจะกลับมาเข้าร่วม CPTPP กระบวนการจะเกิดขึ้นจริง ๆ กลางปี 2564 โดยส่วนตัวเชื่อว่า ทั้งทรัมป์และไบเดนไม่ว่าใครจะชนะมีโอกาสที่จะกลับเข้าร่วมการเจรจา CPTPP สะท้อนได้จากช่วงต้นปีก่อนโควิดระบาด “ทรัมป์” เคยประกาศว่า ไม่ได้ off the table การเจรจา CPTPP เพียงแต่ความตกลงฉบับนี้จะต้องแก้ไขในหลาย ๆ เรื่อง แต่เกิดโควิดเสียก่อน แน่นอนว่าก่อนเลือกตั้ง “ทรัมป์” ไม่ได้นำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นหาเสียง หมายความว่า สหรัฐน่าจะพร้อมที่จะดำเนินการได้เลย ขณะที่ฝั่งเดโมแครตมีอยู่ 3 ก๊ก คือ เอา-ไม่เอา และขอมาดูรายละเอียด CPTPP ก่อน ถ้าพอจะแก้ไขบางรายละเอียดได้ สหรัฐก็พร้อมที่จะเจรจา

Q : กระบวนการในการเข้า

การเข้าสู่ CPTPP ทันรอบไหนนั้น “ไม่ใช่ประเด็น” เพราะคนที่ต้องการเข้าร่วมเจรจาจะสามารถยื่นสมัครเข้าวันไหนก็ได้เหมือนกันหมด แต่มันขึ้นอยู่กับ “ความสามารถในการเจรจา” สำหรับขั้นตอนของสหรัฐกรณีกลับเข้าร่วมความตกลงฉบับนี้ก็คือ 1) ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี 2) ดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการภายใน 3) เริ่มการเจรจาต่อรอง CPTPP ซึ่งก็เป็นกระบวนการเช่นเดียวกับประเทศไทย เพียงแต่จะแตกต่างและมีผลต่อไทยตรงที่ว่า สหรัฐนั้นมีข้อบท (text) ของเดิมอยู่แล้ว ประเด็นนี้มีความเป็นไปได้ 2 ทาง ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิก CPTPP ปัจจุบันจะยอมรับให้สหรัฐกลับไปใช้ข้อบทเดิมหรือไม่ หรือให้เจรจาใหม่ เนื่องจาก CPTPP แตกต่างกับ TPP แค่ตัดเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐออก และ “ยกเว้น” เรื่องที่สหรัฐอยากได้ไว้ก่อน ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก CPTPP ที่ยังไม่ให้สัตยาบันอยู่หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย บรูไน ดังนั้น 11 ประเทศที่เหลืออยู่มีโอกาสที่จะ renegotiations หรือให้เจรจาใหม่ได้เหมือนกัน

Q : ถ้าไทยร่วมด้วย

ในกรณีที่สหรัฐเริ่มเจรจา CPTPP พร้อมกับไทย (ถ้ารัฐบาลไทยตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงนี้แล้ว) CPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศ ยอมคุยกับเราทั้ง 2 ประเทศ โดยไทยเห็น text ของ CPTPP แล้ว ความตกลงที่ไทยอยากขอให้เปิดตลาดเป็นแบบนี้ และสิ่งที่สมาชิก CPTPP ให้ได้เป็นแบบนี้ (ห้ามบอกสิ่งที่เราให้เขาได้)

กระบวนการเข้าร่วมความตกลงของสหรัฐก็จะเป็นไปในแบบเดียวกัน แต่ไทยอาจจะช้ากว่าสหรัฐ เอาเข้าจริง ๆ สิ่งแรกที่จะต้องดำเนินการก็คือ รัฐบาลไทยจะต้องตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ก่อน (ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจที่ว่า) เว้นเสียแต่ว่า ประเทศไทยมี FTA กับสหรัฐ แล้วนำความตกลงดังกล่าวไปไว้ใน CPTPP เหมือน FTA ซ้อน FTA มันก็จะเร็วขึ้น แต่เราไม่มี FTA กับสหรัฐไง สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว หลังโควิดสหรัฐอาจจะอยากเจรจา FTA กับไทยก็ได้ ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลไทย เพราะคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมีหน้าที่ทำการศึกษา แต่ผู้ที่ตัดสินใจจะร่วมหรือไม่ก็คือ ตัวรัฐบาล

การเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่สหรัฐกลับเข้ามา จะดีกว่าที่ไม่มีสหรัฐ เนื่องจากไทยจะได้ตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้น เพราะอย่างที่ทราบ ใน CPTPP ประเทศไทยมีความตกลงเปิดการค้าเสรี FTA เกือบทุกประเทศสมาชิก มีการลดภาษีเปิดตลาดกันไปแล้ว “ยกเว้น” แคนาดากับเม็กซิโก และที่สำคัญ ไทยจะได้ “ล็อก” สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากที่จะถูกตัด เพราะเป็นสิทธิที่สหรัฐให้ฝ่ายเดียว แต่ FTA จะทำให้ไทยสามารถกำหนดอัตราการลดภาษีอย่างถาวรกว่า GSP

Q : Buy American ของไบเดน

การใช้นโยบาย Buy American ของไบเดน จะเกิดขึ้นกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (government procurement) เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทย ถ้าไทยไม่เข้า CPTPP ก็จะไม่สามารถขายสินค้าเข้าตลาดจัดซื้อจัดจ้างของสหรัฐได้ โดยมีข้อมูลว่าขนาดของตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลสหรัฐ มีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านเหรียญ ในจำนวนนี้ 40% สหรัฐเป็นการซื้อจากคู่เจรจาการค้าเสรีที่สำคัญ เช่น แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป (อียู) ส่วนอีก 60% รัฐบาลสหรัฐจะจัดซื้อจัดจ้างภายใต้องค์การการค้าโลก (GPA) ซึ่งสินค้าจะมีหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า ของใช้ อาหาร ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยไม่มีทั้ง 2 อย่าง

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าจะยังคงมีอยู่ แต่วิธีการจะต่างออกไป “ไบเดน” จะเพ่งเล็งไปที่มาตรฐานการค้าโลกด้านต่าง ๆ โดยยึดหลัก rule base โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานแรงงาน กับทรัพย์สินทางปัญญา จะกลับมาเป็นประเด็นการค้ากันอีก ยกตัวอย่าง กรณีการตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยล่าสุด “ทรัมป์” ก็อ้างเหตุจากการที่ไทยไม่เปิดตลาดนำเข้าหมูให้กับสหรัฐ ต่างจากคราวก่อนที่อ้างทั้งเรื่องหมู และการแก้ไขกฎหมายแรงงาน นั่นไม่ใช่เพราะเรื่องแรงงานไม่เป็นปัญหา แต่เพราะฐานเสียงของ “ทรัมป์” คือ คนเลี้ยงหมู

แต่ถ้าเป็น “ไบเดน” เรื่องการเปิดตลาดให้หมูสหรัฐอาจจะเบาลง แต่เรื่องสิทธิแรงงานจะหนักขึ้น ตอนนี้เปรียบเสมือนไทยยังเขย่งอยู่ เราต้องเอื้อมให้ถึงมาตรฐานแรงงาน การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก็เหมือนกับกรณี IUU (การทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) แต่เป็น IUU ภาคแรงงาน เป็นมาตรฐานสากลต้องแก้ไข ไม่ใช่พอเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ถอยกลับ