รัฐดีเดย์โครงการประกันยาง ราคาดีดขึ้นลดส่วนต่างจ่ายเงินชดเชย

ยางพารา
(Photo by Jonathan KLEIN / AFP)

รัฐดีเดย์โครงการประกันยาง ชี้ราคาดีดขึ้นลดส่วนต่างจ่ายเงินชดเชย หลังราคายางในต่างประเทศเริ่มขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.เตรียมชงบอร์ดให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่ 2 วันที่ 26 พ.ย.นี้ 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ราคาน้ำยางสดและยางแผ่นยังคงเคลื่อนไหวอยู่ใน 47-57 บาท/กก. โดยน้ำยางสดณ หน้าโรงงานล่าสุด (วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563) อยู่ที่ระดับราคา 50 บาท/กก. ซึ่งยังต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในเดือนตุลาคมทั้งเดือน

ส่วนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 วันนี้อยู่ที่66.76 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่ขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่ราคา FOB RSS3 (Bangkok) ก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 70.30 บาท/กก.เช่นกัน

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ เกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางส่งออกรายใหญ่ทางภาคใต้ กล่าวว่า ภาวะราคายางขณะนี้ได้ขยับขึ้นทุกตัวที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ โดยยางรมควันกว่า 63 บาท/กก. โดยเฉพาะที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้ขยับขึ้นมาวันนี้(12 พ.ย. 63) ถึง 590-600 หยวน/ตันจาก 13,000 หยวน/ตัน ประมาณ 13,590-13,600 หยวน/ตัน แต่ปรากฏว่า”น้ำยางสด” ภายในประเทศราคาไม่ได้ขยับขึ้นเท่าที่ควร โดยน้ำยางสดอยู่ที่ 45-46 บาท/กก. ขณะที่ยางรมควัน63 บาท/กก. จะมีส่วนต่างที่ 17-18 บาท/กก.

โดยกระบวนการทำยางรมควัน จากน้ำยางสด มาเป็นยางแผ่นดิบ แล้วท้ายสุดเป็นยางรมควัน ค่าบริหารจัดการสูงสุดไม่เกิน 6 บาท/กก. และยังมีกำไรประมาณ 12 บาท/กก. ดังนั้นโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-31 มีนาคม 2564 ระยะเวลา 6 เดือนตลอดทั้งโครงการ

“รัฐบาลอาจจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย เพราะขณะนี้ราคายางในต่างประเทศเริ่มขยับขึ้นต่อเนื่องแล้ว”

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ชาวสวนยางที่รัฐบาลตั้งเป้าหมาย 10,042 ล้านบาท โดยยางแผ่นดิบ60 บาท/กก. น้ำยางสด 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย 46 บาท/กก.นั้น เงินจะเริ่มออกประมาณเดือนธันวาคม 2563 โดยจะมีการจ่ายย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และจ่ายไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

โดยราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เงินชดเชย “ส่วนต่าง” แคบลง รัฐบาลจึงวางเป้าหมายไว้ที่ 10,042 ล้านบาทหรือแคบลงกว่า โครงการประกันรายได้ยางระยะที่ 1 ประมาณ 6 เดือนที่ตั้งไว้ประมาณ 28,000 ล้านบาท ทำให้เงินชดเชยลดลงกว่า 1 เท่าตัวและแนวโน้มยางยังมีราคาที่ดี

ด้านนายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารเตรียมที่จะเสนอบอร์ด ธ.ก.ส. ให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่ 2 ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้น 3 วันทำการเมื่อ ธ.ก.ส.ได้รับรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยาง (1.8 ล้านราย)ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยทันที

“ปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณจ่ายเงินชดเชยต้นทุนเงินเพื่อเป็นการชดเชยใน ธ.ก.ส.ไว้แล้ว 200 ล้านบาท ส่วนปี 2563 จ่ายเงินชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส.ไปแล้ว 250 ล้านบาท”