โควิด-19 เป็นตัวเร่งวิถีใหม่ new normal ทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่พลังงาน จากการแข่งขันเดิม ๆ ก็เริ่มเข้าสู่ยุค smart & green energy
แม้ว่าภาพรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 157,540 กิกะวัตต์ (GWh) ลดลง 2.1% ส่วนภาพรวมการใช้ไฟฟ้านั้นลดลง 3.1% ประมาณ 142,244 กิกะวัตต์ (GWh) จากโควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลงทุกส่วน ทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ขณะที่ภาคครัวเรือนกลับมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 9.5% ทั้งจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น การใช้มาตรการทำงานจากบ้านเพื่อหยุดเชื้อ
แต่อนาคตจากนี้หากโควิดคลี่คลาย ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็จะฟื้นกลับมาทุกภาคส่วนจึงต้องวางแนวทางรับมือเทรนด์พลังงานในอนาคต ล่าสุดกระทรวงพลังงานจัดประชุมเวิร์กช็อป เปิดโอกาส “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” ระดมแนวคิดและมุมมองกำหนดทิศทางนโยบาย โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน
COVID-19 เขย่าแผนพลังงาน
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) พร้อมด้วยแผนที่เกี่ยวข้อง โดยให้รวมเป็นแผนเดียวกัน เพื่อเสนอ ครม.อีกครั้งในปี 2564
โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ผ่านมาใช้การประมาณการเศรษฐกิจระยะยาวเป็นสมมุติฐาน แต่ปีนี้ 2563 มีความคลาดเคลื่อน จากการระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นต้องมีการทบทวนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และดำเนินการให้ยืดหยุ่นและมีเป้าหมายชัดเจน
และไทยต้องมีแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงยุค digital disruption ทั้งในด้านสภาวะโลกร้อนและพลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้นไม่ช้านี้ โดยจะมุ่งเน้นไปถึงการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เป็นศูนย์ (net-zero carbon emissions) เช่นเดียวกับสหรัฐและยุโรปต่างมีเป้าหมายลดให้ได้ในปี 2593 ส่วนจีนมีเป้าหมายในปี 2603 หากไทยจะยึดตามกรอบอาเซียนก็ต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% ในปี 2573
เน้นอีวี-ไม่มีถ่านหิน
ประเด็นที่น่าสนใจ จากแผนพลังงานใหม่นั้น จะไม่มีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ส่วนโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นต้องลดสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้นถึง 30-40%
สำหรับพลังงานไฟฟ้าในอนาคตที่จะเกิดขึ้น นั่นคือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเกิดขึ้น การพัฒนารถไฟฟ้า 13 สาย ประกอบกับเริ่มมีเทคโนโลยี 5G ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะปรับแผนและกำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา นับจาก 3 ปี ไปจนถึง 20 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะจัดทำแผนเสร็จภายใน 6 เดือนราวเมษายน 2564 ส่วนธุรกิจภาคพลังงานที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่น เชื้อเพลิงชีวภาพ ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวด้วย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อธิบายว่า แนวโน้มการพัฒนาด้านพลังงานยุคใหม่จะมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และอนาคตโดยจะเริ่มปรับเปลี่ยนด้านโครงสร้าง รองรับเทคโนโลยียุคดิจิทัล ประกอบด้วยการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานภาคชุมชนและภาคประชาชน เพื่อกระจายศูนย์และลดคาร์บอน
โดยมี P2P sandbox ด้านนโยบายและแผน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) แผนแม่บทและแผนขับเคลื่อนด้านสมาร์ทกริด energy hub/grid connector การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบสายส่ง (grid modernization) ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NEIC) และมุ่งเน้นด้าน EV ซึ่งเป้าหมายว่าปี 2579 จะมี EV จำนวน 1.2 ล้านคัน
มุ่ง 3 ยุค ความมั่นคงพลังงาน
1.อนาคตเพื่อความมั่นคงพลังงานต้องพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคที่มุ่งเน้นความมั่นคงด้านพลังงาน ตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงหลัก จัดหาความต้องการใช้พลังงานของประเทศ โดยรัฐวิสาหกิจ
2.ยุคที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการแข่งขัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัย
3.กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน ยุคที่มุ่งเน้นความรวดเร็วและความคุ้มค่า นำเทคโนโลยีใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการใช้พลังงานเพิ่มบทบาทของผู้บริโภคในระบบพลังงาน และการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมธุรกิจใหม่ เพิ่มบทบาทของเอกชน เช่น P2P, ผู้บริโภคที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (prosumer)
เศรษฐกิจไทยซึมยาวถึงปี’67
ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ฉายภาพว่า ปีนี้โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจทั่วโลก สะท้อนถึงความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
และเป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้มีการลงทุนในประเทศค่อนข้างต่ำไม่ถึง 20% ซึ่งสภาพัฒน์มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังน่าห่วงจากหนี้ครัวเรือนสูง เงินบาทแข็งค่า แม้ว่าจะเริ่มมีวัคซีน แต่ไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวจึงคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติประมาณปี 2566-2567