จัดมินิ เอฟทีเอ ครั้งแรกไทย-รัฐเตลังคานา อินเดีย หวังลุยส่งออกเพิ่มปี’64

ส่งออก-export
แฟ้มภาพ

“จุรินทร์” เผยหลังประชุมเอกชนไทย-อินเดีย เห็นชอบร่วมผลักดัน “มินิ เอฟทีเอ” ไทย-รัฐเตลังคานาของอินเดีย หวังลุยดันมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดียในปีหน้า

วันที่ 17 ธ.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับรัฐบาลระดับรัฐอินเดีย เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการจัดพิธีลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ รัฐเตลังคานา สาธารณรัฐอิเดีย ว่า

การประชุมครั้งนี้ร่วมหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนด้านการค้าไทย-อินเดีย คือ หอการค้าอินเดีย-ไทย (India-Thai Chamber of Commerce) สมาคมธุรกิจอินเดีย-ไทย (India-Thailand Business Association) และสภาธุรกิจไทย-อินเดีย (Thailand-India Business Council) ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยเห็นชอบในการจัดทำ “มินิ เอฟทีเอ” ระหว่างไทย-รัฐเตลังคานา เป้าหมายเพื่อขยายมูลค่าการค้าระหว่างกัน

โดยการประชุมหารือครั้งนี้ เห็นชอบในการจัดทำ “มินิ เอฟทีเอ” (Mini FTA) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย-กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ของรัฐเตลังคานา ประเทศอินเดีย นอกจากเดิมที่ไทยมีเอฟทีเอ ไทย-อินเดีย และเอฟทีเอ อาเซียน-อินเดีย

ทั้งนี้ เพื่อขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยมุ่งเน้นรัฐแต่ละมณฑลของอินเดีย โดยจัดเป็น Mini FTA ซึ่งได้ยกร่างแล้วเสร็จต่อไปจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเพื่อทำการลงนามต่อไป คาดว่าจะเห็นได้ในช่วงเดือนมกราคม 2564 นี้ พร้อมกันนี้ยังจะขยายต่อไปรัฐอื่น ๆ ของอินเดียด้วย

“รัฐอื่นที่สนใจ เช่น 1. รัฐคุชราต 2.กรณาฏกะ 3. รัฐมหาราษฏระ 4. เคเรล่า และ 5.รัฐ 8 สาวน้อย หรือรัฐอัสสัมเป็นเป้าหมายที่จะเดินหน้าต่อไปที่จะทำ Mini FTA กับอินเดีย ซึ่งแต่ละรัฐมีศักยภาพที่สินค้าไทยจะเข้าไปทำตลาดและรัฐดังกล่าวก็มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง พร้อมกันนี้หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ตนจะนำภาคเอกชนเดินทางไปทำขายสินค้าในฐานะหัวหน้าเซลล์แมนประเทศอีกรอบเพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยในอินเดียให้มากขึ้นต่อไป”

อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาอุปสรรคในการร่วมกันหารือและแก้ไขนั้น เช่น เรื่องพิกัดศุลกากรที่ยังไม่ตรงกันระหว่างไทยกับอินเดีย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเข้าไปหารือในการประชุมระหว่างเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ส่วนกรณีสินค้าไทยส่งไปในอินเดียปรากฏว่าศุลกากรอินเดียขอให้ผู้ส่งออกไทยตอบคำถามหลายข้อที่เป็นความลับทางการค้า

เรื่องนี้ได้มีการหารือในที่ประชุม JTC ไทย-อินเดีย เมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะนี้ รอผลอยู่ ล่าสุดอินเดียกับไทยจะจัดสัมมนาออนไลน์เพื่อทำความเข้าใจในทางปฏิบัติเรื่องนี้เพื่อให้การส่งสินค้าสะดวกคล่องตัวขึ้นและลดปัญหาอุปสรรคระหว่างกันต่อไป

ส่วนผลของการเจรจาทำข้อตกลง MOU เพื่อซื้อ-ขายสินค้าไทย-อินเดีย ไปก่อนหน้านี้โดยการเดินทางไปเยือนอินเดียถึง 2 ครั้งซึ่งมีมูลค่า 10,137 ล้านบาท สามารถส่งมอบสินค้าไปแล้วมูลค่า 5,948 ล้านบาท คิดเป็น 60% ของ MOU และด้วยปัญหาโควิด-19 ทำให้ชะลอไป เชื่อว่าจากนี้ก็จะผลักดันการส่งมอบสินค้าให้ครบโดยเร็ว

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การค้ารวมระหว่างไทยและอินเดีย ตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. 2563 การค้ารวมมีมูลค่า 7,871.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 24.41 และไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 909.55 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกสินค้าของไทยไปอินเดีย ตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. 2563 ไทยส่งออกไปอินเดียมูลค่า 4,390.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 30.53


สินค้าส่งออกหลักของไทยไปอินเดีย 5 อันดับแรก (ม.ค.-ต.ค. 63) ได้แก่ 1) เม็ดพลาสติก (-19.25%) 2) เคมีภัณฑ์ (-27.57%) 4) อัญมณีและเครื่องประดับ (-46.62%) 4) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (-22.62%) และ 5) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-13.87%)